ศาล รธน.วินิจฉัยระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองภายใน 15 วัน ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯไม่ขัด รธน. แต่แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องควรปรับปรุงระยะเวลาอุทธรณ์ เพื่อคุ้มครองสิทธิ ปชช.เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (24 พ.ย ) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีที่ศาลปกครองสูงสุด ส่งคำโต้แย้งของวัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม ผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 44 เรื่อง ระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสองว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดกและมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามาตรา 44 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสองแต่มีข้อเสนอแนะว่าให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรพิจารณาปรับปรุงกำหนดระยะเวลาการอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 44 เพื่อให้คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองอย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับวัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม เป็นวัดมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 62 กรมที่ดินมีหนังสือแจ้งคำสั่งกรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินที่วัด อ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จำนวน 8 แปลง เนื้อที่ 142 ไร่ 14 งาน 418 ตารางวา ด้วยเหตุผลว่าเป็นที่ดินหวงห้าม ห้ามออกโฉนดต่อมา 27 มี.ค. 62 ทางวัดได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแต่กรมที่ดินแจ้งว่ายื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์จึงไม่รับอุทธรณ์ วัดจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมที่ดินที่เพิกถอนโฉนดที่ดิน 8 แปลงดังกล่าว และให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหายจากการที่วัดซื้อที่ดิน 8 แปลง ค่าเสียหายในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ กว่าพันล้านบาท แต่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังกรมที่ดินมีหนังสือแจ้งคำสั่งกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนโฉนด 8 แปลง โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และปรากฏหลักฐานใบตอบรับของบริษัทไปรษณีย์ว่ามีนายสิทธิพร เจ้าหน้าที่ของวัดได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 3 มี.ค. 62 หากวัดไม่เห็นด้วยกลับคำสั่งของกรมที่ดินก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อกรมที่ดินภายในวันที่ 18 มี.ค. 62 แต่วัดกลับยื่นหนังสืออุทธรณ์ในวันที่ 27 มี.ค. 62 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากกรมที่ดิน ศาลฯจึงถือว่าวัดยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายภายในฝ่ายปกครองตามขั้นตอนวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลฯจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ทางวัดจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและขอให้ศาลส่งคำโต้แย้งดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย