xs
xsm
sm
md
lg

“การเคหะฯ” ยุคใหม่ สร้าง “ชุนชนสีเขียว” มุ่งตอบโจทย์กระแสโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“การเคหะแห่งชาติ” ยุคใหม่ สร้าง “ชุนชนสีเขียว” ด้วยนวัตกรรม-เทคโนโลยี เดินหน้าสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 65

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยของประเทศไทยมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล โครงการบ้านและคอนโดต่าง ๆ มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดสมัยใหม่ เข้ามาพัฒนาโครงการตามกระแสที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการชูเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย
โดยเป้าหมายของการเคหะแห่งชาติ นอกจากภารกิจสร้างบ้าน และจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางแล้ว

สิ่งสำคัญคือการ “สร้างคุณภาพชีวิต” ให้กับผู้อยู่อาศัยให้ครบทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยสร้างบ้านและสร้างคุณภาพชีวิตไปด้วยกัน ดังนั้น ยุคใหม่ของการเคหะแห่งชาติวันนี้ จึงเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ขับเคลื่อนอย่างมีชีวิตชีวา โดยมีเป้าหมายความสำเร็จ คือ ประชาชนมีที่อยู่อาศัย และ
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เมื่อก่อนเราคิดจะสร้างบ้านอย่างเดียว แต่แนวคิดบ้านยุคใหม่ของการเคหะแห่งชาติ จะต้องมีพื้นที่เว้นระยะให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อให้มีคุณภาพในการอยู่อาศัยหลีกเลี่ยงจากการเป็นชุมชนแออัด จะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 15% ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สันทนาการ สร้างโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่เทคโนโลยี และนวัตกรรมในด้านอื่น ๆ เข้าไป เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำคัญคือ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนให้เกิดขึ้น ให้ทุกคนได้มีส่วนในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน” นายทวีพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการการเคหะแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเคหะแห่งชาติ และรองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายความในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well-being) หรือโครงการ “SSC” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยได้คัดเลือกบ้านเอื้ออาทร บางโฉลง (นิติ 1) เป็นโครงการนำร่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox) มาใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน (Sustainable Community) พร้อมจัดทำ SCC Index ขึ้นเพื่อเป็นตัวชี้วัดและประเมินความสำเร็จของโครงการ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วถึง 80 % และคาดว่าเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 โดยมีเป้าหมายจะขยายผลโครงการ SSC อีก 5 ชุมชน ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง ระยะ 1,โครงการบ้านเอื้ออาทรเมืองใหม่บางพลี (เฟส 2) จ.สมุทรปราการ, โครงการบ้านเอื้ออาทรระยอง (บ้านฉาง 3)
จ.ระยอง, โครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 จ.ปทุมธานี และโครงการบ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 จ.นนทบุรี (บางกรวย-ไทรน้อย) และระยะยาวมีแผนนำเรื่อง SSC เข้าไปในทุกชุมชนของการเคหะแห่งชาติ

ทั้งนี้ จะควบคู่ไปกับการดำเนิน “โครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย” ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) โดยคัดเลือกโครงการประเภทอาคารเช่านำร่อง 7 โครงการ ได้แก่ โครงการจังหวัดเพชรบุรี
(โพไร่หวาน), โครงการจังหวัดมุกดาหาร, โครงการจังหวัดนครสวรรค์ 2 ระยะที่ 2, โครงการจังหวัดสมุทรสาคร (กระทุ่มแบน 3), โครงการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (โรจนะ) ระยะที่ 1, โครงการอาคารเช่าข้าราชการ จังหวัดสกลนคร และโครงการอาคารเช่าข้าราชการ จังหวัดเลย ซึ่งจะใช้โมเดลของ SSC ในการพัฒนาเช่นเดียวกัน

ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของการเคหะแห่งชาติ ในเรื่อง Smart and Sustainable Community ยังไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่เชื่อว่าภาพดังกล่าวจะชัดเจนขึ้นในปี 2566 ภายใต้การพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) และอีก 4 ชุมชนเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอีก 7 โครงการ จะทำให้การเคหะแห่งชาติ สามารถก้าวไปสู่ชุมชนที่ “ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์” (Net-Zero Carbon Emissions) ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศล่าสุดในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 เป้าหมายยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2050 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ได้ในปี 2065

“การทำเรื่องเหล่านี้ ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ ให้ทันกับกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นองค์กรที่เริ่มต้นเรื่องนี้ได้เร็ว และถือเป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ก็ว่าได้
ประกอบกับโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ จะสร้างอิมแพ็คได้มหาศาล” ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น