xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้การป๊อป” ซูฮก ทอ.จัดซื้อเครื่องบินจู่โจม AT-6 หนุนพึ่งพาตนเอง ฟาด 3 บิ๊กโปรเจกต์ ทอ.ส่งกลิ่นเปิดทางต่างชาติขี่คอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
“อนุดิษฐ์” ซูฮก ทอ.จัดซื้อเครื่องบินจู่โจม AT-6 Wolverine ตามหลักจัดซื้อ-พัฒนา ปลดแอกปมทาสต่างชาติ ชี้ แม้ใช้งบถึง 4.6 พันล้าน แต่มีส่วนที่นำมาจ้างงานในประเทศ เชื่อหนุนแนวทางพึ่งพาตนเอง-กระตุ้น ศก. ลั่นเกาะติด 3 บิ๊กโปรเจกต์ ทอ.ส่งกลิ่นต่อเนื่อง จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง

จากกรณีที่เว็บไซต์ ไฟล์ทโกลบอล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า บริษัท เท็กซ์ตรอน อาวิเอชั่น ดีเฟนซ์ (Textron Aviation Defense) บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจากรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา บรรลุสัญญาขายเครื่องบินจู่โจมขนาดเล็กอย่าง Beechcraft AT-6 Wolverine ให้กับกองทัพอากาศไทย ที่จะสั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าวจำนวน 8 ลำ ด้วยกัน ภายใต้สัญญามูลค่า 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,675 ล้านบาท นั้น

วันนี้ (17 พ.ย. 64) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ผมอ่านข้อมูลทางเว็บไซต์ของบริษัท Textron Aviation เกี่ยวกับการลงนามสัญญาจัดหาเครื่องบินโจมตี AT-6 ของกองทัพอากาศไทยแล้ว ในฐานะผู้แทนราษฎร ที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย และอดีตผู้บังคับฝูงบิน F-16 ของกองทัพอากาศ ที่มีโอกาสได้ทราบ และตระหนักรู้ถึงปัญหาการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ต้องขอแสดงความยกย่อง และชื่นชมผู้บังคับบัญชา และข้าราชการทุกท่าน โดยเฉพาะคณะกรรมการกำหนด TOR และคณะกรรมการจัดซื้อฯของกองทัพอากาศ ที่ใช้แนวทางการจัดหาแบบ Purchase and Development (จัดซื้อและพัฒนา) ในการจัดหาเครื่องบินโจมตีฝูงใหม่ในครั้งนี้ โดยคำนึงถึงการพึ่งพาตนเองและการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ภายใต้นโยบาย S Curve ตัวที่ 11 ตามที่กองทัพอากาศได้เคยมาชี้แจงกับสภาผู้แทนราษฎร

“กราบขอบคุณในหัวใจของทุกท่าน ที่ต้องการปลดแอก และไม่ยอมตกเป็นทาสของต่างชาติ ที่กดทับการพัฒนา และการพึ่งพาตนเองของกองทัพอากาศมาโดยตลอด” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุด้วยว่า แม้โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 143 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินส่วนหนึ่งจะคืนกลับมาสู่การจ้างงานในประเทศ ตามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมมือของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด หรือ TAI รัฐวิสาหกิจของกองทัพอากาศ จะทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนเครื่องบิน ส่วนการพัฒนาระบบ Avionic การบูรณาการระบบอาวุธ และการผลิตชิ้นส่วนบางส่วนจะดำเนินการโดยบริษัท R V Connex จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนสัญชาติไทยแท้ๆ การจัดหาแบบ Purchase and Development ของกองทัพอากาศ จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ที่เดิมต้องจ่ายเงินทั้งหมดให้ต่างชาติ เปลี่ยนไปเป็นจ่ายแค่บางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะถูกใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ในประเทศ เป็นทั้งการใช้จ่ายเพื่อซื้อวัตถุดิบ การจ้างแรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“แต่ที่สำคัญก็คือ งบประมาณส่วนนี้จะถูกใช้ต่อยอดขีดความสามารถของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่จะเดินไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ ในฐานะกรรมมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ระบุต่อไปว่า และด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผมต้องเกาะติดการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ อย่างใกล้ชิด ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2), โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ มูลค่าเกือบ 3 พันล้านบาท ที่ผู้มีอำนาจไปสั่งเปลี่ยนวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของโครงการ และบางโครงการได้ตัดหลักการจัดซื้อแบบ Purchase and Development ออกไปทั้งหมด และบางโครงการก็เปิดประตูให้บริษัทต่างชาติเข้ามาขี่คออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเองอีกด้วย

“เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ ครับ ผมเชื่อมั่นในพี่น้องนักบินที่เคยบินด้วยกันมาทุกคน ที่วันนี้เติบโตเป็นผู้บริหารระดับสูงของกองทัพอากาศแทบทั้งสิ้น พวกเราถูกปลูกฝังให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น และต้องมีระบบเกียรติศักดิ์ ขนาดใครทำผิดเรื่องการบินและไม่มีใครเห็นด้วยซ้ำ พวกเรายังลงมาเขียนชื่อปรับตัวเองตามความผิดนั้นๆ เพราะฉะนั้นวันนี้เรื่องอะไรที่ผิดหรือไม่ถูกต้อง ช่วยกันแก้ไขให้ถูกต้องด้วยนะครับ” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุในช่วงท้าย.




กำลังโหลดความคิดเห็น