xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ย้ำโลกกำลังฟื้นตัวควรเร่งฟื้นฟู ศก.ไปสู่การเติบโตในระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ย้ำโลกกำลังฟื้นตัวควรเร่งฟื้นฟูและพลิกโฉมเศรษฐกิจไปสู่การเจริญเติบโตในระยะยาว

วันนี้ (12 พ.ย. 2564) เวลา 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ณ ตึกภักดีบดินทร์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 28 ช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การฟื้นตัวจากโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับทุกคนและลูกหลานของเรา” ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 28 ในปี 2564 มีหัวข้อหลักคือ ร่วมกัน ทำงาน เติบโตไปด้วยกัน (Join, Work, Grow. Together.) โดย เอเปก ก่อตั้งเมื่อปี 2562 (ค.ศ. 1989) มีเป้าหมายหลัก คือ ส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การรวมตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งร่วมมือทางด้านวิชาการ/การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ และมีผู้สังเกตการณ์ 3 หน่วยงาน ในปี 2564 นิวซีแลนด์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกต่อจากมาเลเซีย และไทยจะเป็นเจ้าภาพต่อจากนิวซีแลนด์ในปี 2565 โดยไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำเอเปกเมื่อปี 2546

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวต้อนรับเข้าสู่การประชุม สำหรับของขวัญที่นิวซีแลนด์ได้มอบให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจคือ ผ้าพันคอ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากชนเผ่าเมารี เป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวของคนหลายกลุ่ม สะท้อนว่า เรารวมตัวกันเพื่อร่วมมือกัน ส่วนจี้หยกสะท้อนจิตวิญญาณของนิวซีแลนด์ลวดลายมีความหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ด้วยกัน สร้างแนวทางใหม่ร่วมกัน ในช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่ต้องก้าวผ่านความแตกต่างเพื่อร่วมมือกันจัดการกับโรคโควิด-19 ผ่านความร่วมมือใหม่ไปสู่อนาคต ตลอดจนต้องแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิจิทัล การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และหาแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันโดยเฉพาะกับเยาวชน โดยนายกฯนิวซีแลนด์ได้เน้นย้ำความสำคัญของเวทีเอเปกเพื่อก้าวสู่อนาคตใหม่ร่วมกัน

นางคริสตาลีนา จอร์เจียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) ความเหลื่อมล้ำโดยเห็นได้จากอัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งในหลายประเทศยังคงไม่ครอบคลุมโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่จำเป็นต้องติดตามต่อไป 2) สภาวะเงินเฟ้อ ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่า กลางปีหน้าปัญหาเงินเฟ้อจะคลี่คลายลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ IMF ยังย้ำถึงการดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสภาพพูมิอากาศ โดยควรเน้นการตั้งเป้าหมายให้ประชากรโลกฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 40-70% ภายในกลางปี 2022 และกำหนดนโยบายในระดับท้องถิ่นซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน รวมทั้งเร่งฟื้นฟูการสภาพภูมิอากาศ IMF เห็นว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนต้องได้รับการแก้ไขระดับภาครัฐ และอาศัยความร่วมมือจากการลงทุนจากภาคเอกชน รวมทั้งปัญหาความยากจนก็ยังเป็นความท้าทายที่ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างครอบคลุม

นายกรัฐมนตรี เห็นว่า โลกกำลังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แม้ยังเผชิญกับความท้าทายจึงควรรีบตักตวงการใช้ประโยชน์ เพื่อเร่งฟื้นฟูและพลิกโฉมเศรษฐกิจไปสู่การเจริญเติบโตในระยะยาว โดยโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอ 3 ประเด็นที่เอเปกควรให้ความสำคัญ

ประการแรกที่เร่งด่วนที่สุด การรื้อฟื้นความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว ไทยเล็งเห็นประโยชน์ของการมีมาตรการด้านการเดินทางร่วมกันในภูมิภาค และมุ่งมั่นที่จะผลักดันประเด็นนี้อย่างเต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยมุ่งมั่นผลักดันให้มีการกลับมาเชื่อมโยงกันในภูมิภาค และจะร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไปในวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565

ประการที่สอง การกระตุ้นการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า เอเปกต้องสนับสนุนและส่งสัญญาณที่เข้มแข็งไปยังการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ที่กำลังจะจัดขึ้น ที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมดังกล่าว

ประการที่สาม การพลิกโฉมเศรษฐกิจ เพื่อการเจริญเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม ซึ่งผู้นำโลกได้ย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันในการผลักดันการดำเนินการด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศที่การประชุม COP26 โดยไทยได้ประกาศเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ตลอดจนได้ให้คำมั่นในการนำนวัตกรรมมาสนับสนุนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตสีเขียว ตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปกในปี 2565 ที่จะนำประสบการณ์ของเอเปกใช้ประโยชน์ในการผลักดันภารกิจของเอเปกในเรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมให้มีความคืบหน้าต่อไป และกล่าวแสดงความยินดีกับทีมนิวซีแลนด์ สำหรับการทำงานที่ประสบความสำเร็จ โดยไทยมุ่งมั่นที่จะต่อยอดจากความสำเร็จของนิวซีแลนด์ และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเขตเศรษฐกิจทั้งหมดในปีหน้า เพื่อนำเอเปกไปสู่อนาคตหลังโควิด-19 ที่มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาค และประชาชนของเราต่อไป ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวสนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐฯ และเปรู ในการเป็นเจ้าภาพเอเปกในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ทั้งนี้ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 28 มีเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 28 (APEC Leaders’ Declaration) และแผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปก ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040 Implementation Plan)


กำลังโหลดความคิดเห็น