กสม. ห่วงกรณีแรงงานเมียนมาลักลอบเข้าไทย มีปัญหาการค้ามนุษย์ เตรียมศึกษาและเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาล-เผยผลการตรวจสอบกรณีการตรวจหาสารเสพติดของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (11 พ.ย.) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 7/2564 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1. กสม.ประสานการคุ้มครองกรณีแรงงานชาวเมียนมาจำนวนมาก ถูกจับจากการลักลอบเข้าไทย ห่วงปัญหาการค้ามนุษย์ เตรียมศึกษาและจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาล
ตามที่ปรากฏข่าวกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังจับกุมแรงงานชาวเมียนมา ที่ลักลอบเข้ามาทางด่านชายแดนอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน จำนวนหลายร้อยราย ซึ่งภาคประชาสังคม โดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกระดับปฏิบัติการต่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ชายแดนไทย-พม่า พร้อมเสนอให้ กสม.ตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับกุม สอบถามปัญหา และหารือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม นั้น
กสม.โดยคณะทำงานด้านการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีเร่งด่วน ได้ดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้สอบถามและรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร และเจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ที่เข้าจับกุม ซึ่งได้รับแจ้งว่าในจำนวนชาวเมียนมาที่ถูกจับกุม ไม่มีเด็กหรือผู้ลี้ภัยปะปนมาด้วยและทั้งหมดเป็นวัยทำงาน โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการกักตัวแรงงานตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาให้ข้อมูลว่า ได้ติดตามสถานการณ์การจับกุมและดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าประเทศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีคดีลักลอบเข้าเมืองจำนวนมาก ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย แต่ในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องในฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น
เมื่อพิจารณารวมไปถึงการที่ประเทศไทยถูกลดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 (2021 TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวน่าห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งทั้งในมิติด้านแรงงาน การค้ามนุษย์ และสุขภาพ กล่าวคือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองเมื่อปลายปี 2563 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแรงงานเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่และต้องอยู่กันอย่างแออัด นอกจากนี้ กรณีการจับกุมแรงงานชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมานี้ อาจมีประเด็นปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์นอกเหนือไปจากการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่ง กสม.เคยมีข้อเสนอแนะ (เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564) ในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกรณีการลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว แต่ไม่ปรากฏผลการดำเนินงานที่ชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 จึงมีมติเห็นควรให้มีการศึกษาเพื่อมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเด็นการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะเพื่อเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ข้อ 8 ห้ามบุคคลมิให้ตกอยู่ในภาวะเยี่ยงทาส บุคคลจะถูกเกณฑ์แรงงานหรือบังคับใช้แรงงานมิได้
2. กสม.เผยผลการตรวจสอบกรณีการบังคับตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กล่าวอ้างว่า เมื่อเดือนเมษายน 2561 ผู้ร้องได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ณ จังหวัดอุดรธานี แต่เนื่องจากผู้ร้องเป็นบุคคลที่ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จึงได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเมื่อกระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกิน ฯ เสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองในฐานะได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ได้แจ้งให้ผู้ร้องรวมถึง ผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกราย เข้ารับการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ โดยผลการตรวจไม่พบสารเสพติด แต่ผู้ร้องเห็นว่า การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกรายในลักษณะเหมารวม โดยไม่จำแนกและตรวจตามเหตุอันควรสงสัย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณากรณีดังกล่าวประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า การดำเนินการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกรายของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในกรณีดังกล่าวเป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และมาตรา 58/1 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระว่า ในกรณีที่จำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ทั้งยังสอดคล้องกับประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามหนังสือสั่งการของ ศอ.ปส.ปค. ด่วนที่สุด ที่ มท 0311.3/ว 5766 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2561 เรื่อง การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2561 และเป็นไปโดยอ้างอิง สถิติระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บ.ส.ต.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2563 ที่ว่า บุคคลช่วงอายุ 20-24 ปี เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีการใช้ยาเสพติดและเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษามากที่สุด มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมด
กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อมูลดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่ามีเหตุอันควรในการสั่งการให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ ทุกรายต้องตรวจหาสารเสพติด เนื่องด้วยกระบวนการเช่นนี้เป็นการดำเนินการในลักษณะเหมารวม โดยไม่จำแนกเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดเป็นผู้เสพยาเสพติด จึงถือว่าเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องและผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ ทุกราย
ทั้งนี้ กสม.จะได้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาสารเสพติดเป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และมีเหตุผลสมควรจำเป็นอันเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย... การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ...” รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งได้รับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้เช่นเดียวกัน