“สมชัย” ห่วงศาล รธน.ไม่ชี้ชัดเครือข่ายใดบ้างต้องเลิกการกระทำ ปมล้มล้างการปกครอง อาจเป็นปัญหาในอนาคต เชื่อปมแก้ ม.112 ยังเดินต่อได้แต่ต้องเป็นการปรับปรุง ไม่ใช่ยกเลิก
วันนี้ (11 พ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา และพวก เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า ขอดูรายละเอียดในคำวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหาของสิ่งที่เป็นการล้มล้างการปกครอง ทั้ง 10 เรื่อง ก็คงจะต้องดูทีละเรื่องไป ซึ่งตนคิดว่า การเหมารวมทั้ง 10 เรื่อง เป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครอง อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะตนดูเบื้องต้นในเรื่องที่ 9 เป็นเรื่องการเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในคดีอาญา บอกว่า คนที่ถูกอุ้มสูญหาย คนที่ถูกฆ่าตาย ขอให้มีการสืบสวนโดยเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เลย เป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมในคดีอาญาทั่วไป ซึ่งตนคิดว่าประชาชนทุกคน ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องเหล่านี้ก็ควรเรียกร้องได้
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีคำวินิจฉัยนั้น สำหรับทั้ง 3 คน ที่ศาลชี้ว่า ห้ามกระทำ ศาลก็มีสิทธิที่จะสั่งให้ยุติการกระทำ ส่วนที่บอกว่าให้กลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยนั้น คิดว่า อาจจะเป็นคำที่ดูกว้าง เพราะเราไม่รู้ว่าใครคือเครือข่ายอื่นๆ ที่จะต้องยุติการกระทำ ไม่แน่ใจว่าใครคือเครือข่าย ศาลไม่ได้ชี้ชัดเจน ความจริงถ้าหากว่าดีที่สุด คือ ต้องชี้ชัดว่าประกอบด้วยเครือข่ายต่างๆ อะไรบ้างให้หยุดการกระทำ ซึ่งจะเป็นปัญหาว่าต่อจากนี้ไปคนที่ทำเป็นเครือข่ายหรือไม่ใช่เครือข่าย นอกจากนั้น การที่ศาลสั่งให้ยุติการกระทำในอนาคตนั้น ตนอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แล้ว คิดว่าไปไม่ถึง เพราะมาตรา 49 เพียงแค่ว่าหากศาลเห็นว่าผิดให้สั่งให้ยุติการกระทำในปัจจุบัน แต่ว่าในอนาคตนั้นก็เป็นเรื่องที่อาจจะไกลเกินกว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อถามว่ามีการพูดถึงว่าจะมีการเอาเรื่องนี้ไปเป็นสารตั้งตันในการยื่นยุบพรรคก้าวไกลนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ก็เป็นกระบวนการทางการเมือง ซึ่งตนเข้าใจว่า ในทางการเมืองอาจมีคนที่มีความเห็นและจุดยืนแตกต่างกัน และการมุ่งที่จะทำลายล้างก็จะมีความแตกต่างกัน ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องรอดูผลที่เกิดขึ้น แม้ในมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่มีผลทางอาญาก็ตาม แต่ตนก็คิดว่าก็คงจะเอาเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะร้องดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล หรือคณะบุคคล คงมีการร้องแน่ แต่ศาลก็ตัดสินโดยอิสระไม่ได้ผูกพันกับเรื่องนี้ แต่ก็มีน้ำหนักไปในทางที่ว่าหากว่าศาลเคยชี้ทำนองนี้แล้ว น้ำหนักทางอาญาก็มีแนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่จะออกมาในเชิงที่สอดคล้องกัน
เมื่อถามว่า กรณีที่มีการเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเข้าข่ายในกรรีนี้ด้วยหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ถ้าตีตามตัวอักษร การยกเลิกมาตรา 112 เป็น 1 ใน 10 ข้อเสนอในการชุมนุมดังกล่าว การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ก็คงจะไม่ได้ แต่เสนอให้ปรับปรุงน่าจะได้ ซึ่งสภาฯเองถ้าคิดว่ากฎหมายฉบับใดมีความจำเป็นต้องปรับปรุง ก็ปรับปรุง