xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯ วินิจฉัย "อานนท์-ไมค์-รุ้ง" ล้มล้างการปกครอง สั่งเลิกกระทำการดังกล่าวในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วันนี้ (10 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมมนูญนัดวินิจฉัยคดีที่ นายณฐพร โตประยูร ยื่นร้องกลุ่มราษฎร ได้แก่ นายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 กรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยร้องว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ก่อนเริ่มอ่านคำวินิจฉัย ทนายในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายอานนท์ นำภา ได้กล่าวชี้แจงต่อศาลและขอออกจากห้องพิจารณาคดี หลังศาลพิจารณาว่า สามารถวินิจฉัยคดีดังกล่าวโดยไม่เบิกตัวมาไต่สวน โดยศาล ระบุว่า เป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติโดยไต่สวนตามพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมา และการยืนยันว่า จะไม่รับฟังคำตัดสินควรกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ใช่พูดปากเปล่าเท่านั้น

ต่อมา น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า วันนี้มานั่งฟังคำวินิจฉัยใช่หรือไม่ แต่ทนายพวกเราเคยขอให้มีการไต่สวนเพิ่มไปแล้ว ซึ่งตนไม่ใช่นักเรียนกฎหมาย รู้น้อย แต่เข้าใจว่าการได้มาซึ่งความยุติธรรมอย่างน้อยต้องได้รับฟังทุกอย่างเท่าที่จะรับฟังได้ และ อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ มารออยู่ ถ้าศาลอนุญาตให้ไต่สวนได้ แต่วันนี้ถ้าศาลไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนแล้วจะรับฟังคำวินิจฉัยเลย โดยที่ไม่ได้มีโอกาสที่จะแสวงหาความจริงเพิ่มเติมให้ศาลรับทราบ จะขอออกห้องพิจารณาเช่นกัน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คำกล่าวนั้นเป็นข้ออ้างของฝ่ายผู้ถูกร้อง ซึ่งศาลแสวงหาข้อเท็จจริง โดยเอกสารทุกอย่างที่ได้มาส่งให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดแล้ว และผู้ถูกร้องสามารถโต้แย้งและได้รับเอกสารตอบกลับมาหมดแล้ว ยืนยันว่า ไม่ใช่การพิจารณาในระบบกล่าวหา แต่เป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวน และให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบหลักฐานทุกอย่างและโต้แย้งทั้งหมด ดังนั้น การพิจารณาคดีทุกอย่างถือว่าถูกต้อง ย้ำว่าใช้การพิจารณาปีกว่า ทุกอย่างดำเนินการอย่างรอบคอบ

จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยโดยใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยประมาณ 1 ชั่วโมง โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 กลุ่มองค์กรและเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2

ทั้งนี้ เมื่อ 9 เดือนที่แล้ว กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยผู้ชุมนุมที่เป็นหนึ่งในแนวร่วมราษฎรประกาศข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ หรือที่เรียกว่าข้อเรียกร้องทะลุเพดาน ซึ่งผู้อ่านคำประกาศ คือ ปนัสยา หรือ รุ้ง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้แกนนำถูกดำเนินคดีในหลายคดี หนึ่งในนั้นคือข้อหาล้มล้างการปกครอง