ทนายของ “อานนท์-ไมค์” และ “รุ้ง” รวมหัวป่วนตุลาการ ร้องขอ “ส.ศิวรักษ์” เป็นพยานไต่สวนคดีล้มล้างการปกครอง ไม่ทำตามขู่ออกจากห้องพิจารณา แต่จ๋อยเจอศาลแจงพยานหลักฐานครบพิจารณาปีกว่า ระบุ “อ้างอะไร อ้างไป”
วันนี้ (10 พ.ย.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ นายณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งรายชื่อบุคคลที่เข้ามารับฟังคำวินิจฉัย โดย นายณฐพร โตประยูร ในฐานะผู้ร้อง ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง ส่วน นายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 มอบหมายให้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส เป็นผู้แทนมาศาล นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 มอบหมายให้ นายนรเศรษฐ์ นอหนองตุม เป็นผู้แทนมาศาล ส่วน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยเอง
โดยก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย นายกฤษฎางค์ ได้กล่าวต่อศาลว่า ตนได้รับคำสั่งจาก นายอานนท์ ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยระบุว่า ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องขอให้ดำเนินการไต่สวน นายอานนท์ บอกว่า ไม่ต้องอยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเลย เพราะไม่ประสงค์จะให้มีตัวแทนมารับฟังคำวินิจฉัย ส่วนเรื่องการไต่สวน ตน และนายอานนท์ เข้าใจว่าเป็นอำนาจของศาลที่จะงดการไต่สวน เพราะศาลยุติธรรม หรือศาลอื่น หากหลักกฎหมายเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาคดี เพียงแต่เราอาจจะมองต่างมุม เนื่องจากเรื่องนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเราควรมีโอกาสแสวงหาข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลด้วย โดยวันนี้ตนได้นำพยาน คือ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ มาด้วย จึงขอให้ศาลช่วยบันทึกไว้ด้วยและขอเรียนด้วยความเคารพในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายอานนท์
จากนั้น นายนรเศรษฐ์ ทนายของนายภาณุพงศ์ ก็ได้แจ้งต่อศาลในลักษณะเดียวกันว่าไม่ประสงค์จะอยู่รับฟังคำวินิจฉัย จึงขอออกจากห้องพิจารณาไป
ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ศาลพิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงได้จากหลายฝ่าย เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่สามารถจะวินิจฉัยได้ จึงสั่งงดการไต่สวน ซึ่งเป็นคำสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนการไม่ประสงค์ฟังคำวินิจฉัยก็เป็นสิทธิ
น.ส.ปนัสสยา กล่าวกับศาลว่า วันนี้เรามาฟังคำวินิจฉัยโดยทนายของพวกเราเคยมีการยื่นขอศาลให้ดำเนินการไต่สวน หนูไม่ใช่นักเรียกกฎหมายก็อาจจะรู้น้อย แต่ก็เข้าใจว่า การได้มาซึ่งความยุติธรรม อย่างน้อยควรจะต้องรับฟังทุกอย่างเท่าที่จะรับฟังได้ ซึ่งวันนี้ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ได้มารออยู่ พร้อมที่เข้าไต่สวนหากศาลอนุญาต แต่ถ้าศาลไม่อนุญาตและให้รับฟังคำวินิจฉัย โดยที่หนูไม่มีโอกาสแสวงหาความจริงเพิ่มเติมให้รัฐธรรมนูญก็คงต้องขอออกจากห้องพิจารณาเช่นกัน
ศาลชี้แจงว่า เป็นข้ออ้างของฝ่ายผู้ถูกร้องว่าไม่ไต่สวน แต่ความจริงกระบวนการพิจารณาของศาลไต่สวน เราแสวงหาข้อเท็จจริงทุกอย่าง เอกสารที่ได้มาได้ส่งให้ผู้ถูกร้องเรียกร้อยหมดแล้ว ผู้ถูกร้องมีหน้าที่โต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งศาลได้รับหมดแล้ว ถือว่าได้ให้ความเป็นธรรม และยุติธรรมกับผู้ถูกร้องทั้งหมดแล้ว ไม่ใช่การพิจารณาในระบบกล่าวหา แต่เป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวน แต่ในการไต่สวนศาลได้ให้ผู้ถูกร้องทราบ พยานหลักฐานทุกอย่างและให้โอกาสโต้แย้ง ดังนั้นกระบวนการพิจารณาถูกต้อง “สิ่งที่คุณอ้าง ก็เป็นข้ออ้างของคุณ” ยืนยันว่า เรื่องนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาเป็นปี เรารอบคอบในการหาพยานหลักฐาน ไม่ใช่รับคำร้องมาแล้วตัดสิน ใช้เวลาปีเศษด้วยซ้ำไป