ครม.เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา เปิดประตูการค้าอเมริกาเหนือ
วันนี้ (9 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย และร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ซึ่งจะมีการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การเจรจาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเปิดเสรีทางการค้าผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทางภาษีและที่มิใช่ภาษีในสินค้าทั้งหมดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งเสริมการค้าบริการในสาขาที่สำคัญ และขยายโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งการเจรจาในชั้นนี้ยังไม่มีผลผูกผันทางกฎหมาย สำหรับสาระสำคัญของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้
1. ร่างกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย มีสาระสำคัญเป็นการวางกรอบแนวทางการเจรจาของไทย เพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุน เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในประเทศ เพื่อเจรจาให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมระดับการพัฒนาและภูมิคุ้มกันของประเทศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. ร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา เป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันระหว่างอาเซียนและแคนาดา ถึงขอบเขตประเด็นที่จะเจรจาประกอบด้วย หลักการทั่วไป วัตถุประสงค์ของการเจรจา ตลอดจนหัวข้อสำคัญในการเจรจา ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ได้แก่ การค้าสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกาเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอานวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบการค้าและบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายแข่งขันทางการค้า วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความโปร่งใส การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ กลไกการจัดการเชิงสถาบัน วัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการผูกมัดผลการเจรจาที่จะเกิดขึ้น
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนนาดา อาทิ 1. GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น ประมาณการได้ตั้งแต่ 7,968 - 254,953 ล้านบาท ตามสมมติฐานที่แตกต่างกัน 2. FTA ช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วยมาก่อน 3.กลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น อาทิ (1) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ปรุงรส (2) ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง (3) เครื่องมือและเครื่องจักร เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะนำเข้าจากแคนาดามากขึ้น อาทิ (1) ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อหมูและเครื่องใน เนื้อปลาแช่แข็ง (2) ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี (3) ไม้แปรรูป เช่น แผ่นชิ้นไม้อัดเรียงแถว เฟอร์นิเจอร์ไม้
อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA กับแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจส่งผลให้ภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และผู้ประกอบการของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และต้องมีการยกระดับมาตรการกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ ให้เป็นสากลมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าดิจิทัล สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งข้อกังวลในเรื่องต่างๆ นี้ ขอย้ำว่า รัฐบาลจะเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจุบันไทยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี FTA จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย เปรู ชิลี และ ไทย ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 63 ของการค้าทั้งหมดของไทย มากไปกว่านั้น ยังได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่มีสมาชิกประกอบด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งความตกลง RCEP จะมีผลบังใช้ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้สินค้าไทยกว่า 2.9 หมื่นรายการ ได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันที