ข่าวปนคน คนปนข่าว
**“ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร บุรุษหนึ่งไม่มีสอง ผู้เป็นตำนาน “กุนซือ 7 รัฐบาล”
นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในแวดวงเศรษฐศาสตร์-รัฐศาสตร์ และการเมือง บ้านเรา
ภายหลังจากที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ “ดร.โกร่ง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแก่อนิจกรรมลงด้วยวัย 78 ปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
“ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” หรือชื่อเดิม “ประดับ บุคคละ” เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรชาย ร.ต.ต.ประดิษฐ์ รามางกูร และ นางบุญศรี รามางกูร
ปู่ของ ดร.โกร่ง เป็นตระกูลเจ้านายลาวเวียงจันทน์ ผู้ปกครองเมืองธาตุพนม หรือ เมืองพนม ในอดีต ขณะที่ย่าเป็นตระกูลเจ้านายภูไทเมืองวัง ผู้ปกครองเมืองเรณูนคร หรือ เมืองเว ในอดีต ปัจจุบันคืออำเภอธาตุพนม และอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
“ดร.วีรพงษ์” มีบุตรธิดา 3 คน คือ ได้แก่ 1. น.ส.วรมน รามางกูร 2. นายวีรมน รามางกูร และ 3. นายวรวงศ์ รามางกูร
“ดร.โกร่ง” เป็นคนเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาดีมาก ประกอบกับมีความขยันพากเพียร ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนเป็นอันดับ 1 ในชั้นเรียนมาโดยตลอด เมื่อวัยเด็กได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่ตัวจังหวัดนครพนม จนจบประถม 4 ก่อนจะย้ายตามบิดาเข้ากรุงเทพฯ เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนศรีอยุธยา มัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นเดียวกับ “สุรศักดิ์ นานานุกูล” ต่อมาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง เป็นคนแรกจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมาได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต ร่วมมือกับ “ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ” ก่อตั้งแผนกอิสระสื่อสารมวลชน ซึ่งต่อมาคือ คณะนิเทศศาสตร์ ของจุฬาฯ
จากนั้นได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เข้าศึกษาต่อทางด้านวิชาเศรษฐมิติ (Econometrics) ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นาน 5 ปีครึ่ง ต้นปี พ.ศ. 2515 ได้กลับมาเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2519
หลังปี พ.ศ. 2526 เข้าทำงานที่สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จากนั้น พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลประเทศลาว ในการวางแผนเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมมาเป็นระบบทุนนิยม ตามนโยบายเปิดประเทศ เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน และยกย่องกันว่า รัฐบาลลาวได้ไว้วางใจ และนับถือ ดร.โกร่ง ว่า เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศลาวเป็นอย่างมาก
ตลอดชีวิตการทำงานของ “ดร.โกร่ง” ได้รับการยอมรับและเชื่อถือของสังคมเป็นอย่างมาก เพราะรอบรู้ทั้งความรู้ด้านรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ความสามารถในการวิเคราะห์คาดการณ์ แนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ไม่เป็นที่สองรองใคร
นอกจากนี้ “ดร.โกร่ง” นับเป็นลูกศิษย์ “หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย” หรือแม้แต่ฝีมือในการผูกดวงชะตา วางราศีของ “ดร.วีรพงษ์” ยังได้รับการยอมรับในวงการว่าไม่ธรรมดา โดยเป็นศิษย์ของโหราจารย์ชื่อดัง “อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร”
ความสามารถและผลงานอันเอกอุ ทำให้ “ดร.วีรพงษ์” ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายการเมืองเชื้อเชิญแต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษา” ไปจนกระทั่งมอบตำแหน่ง รองนายกฯ และรัฐมนตรีใน 7 รัฐบาล ตั้งแต่ รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ขณะที่ธุรกิจเอกชนก็ทาบทามให้เข้าไปช่วยบริหารธุรกิจในฐานะประธานกรรมการ และกรรมการของบริษัทเอกชนอีกหลายสิบแห่ง
“ดร.โกร่ง” เคยเป็น “กุนซือ” ให้ “รัฐบาลป๋าเปรม” ยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน โดยที่เคยกล่าวไว้เป็นตำนานเล่าขานว่า “ผมเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ พล.อ.เปรม ที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนใคร ไม่ได้เดินออกจากตำรา ผมเข้าใจดีว่า สำหรับนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร รัฐศาสตร์เขาอาจจะเข้าใจ แต่จะให้เขาเข้าใจเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไร”
ขณะที่รัฐบาลไหนๆ ก็เรียกใช้บริการที่ปรึกษา “ดร.โกร่ง” เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ผมเหมือนตุ่มน้ำที่วางอยู่ข้างทาง ใครกระหายจะตักดื่ม หรือเดินผ่านไปก็ได้ ผมซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตัวเอง ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผิดโดยสุจริต แต่โชคดี 30 กว่าปีมานี่ ยังไม่เคยผิดเลย”
เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็สนับสนุนความเชื่อมั่นเช่นนั้นของ “ดร.วีรพงษ์” ว่ากันว่า ครั้งหนึ่ง “พล.อ.เปรม” เคยกล่าวเตือน “พล.อ.ชวลิต” นายกรัฐมนตรี ที่คัดค้านคำแนะนำในการลดค่าเงินบาทของ ดร.วีรพงษ์ ว่า “โกร่งมันอยู่กับเรามาตั้งแต่หนุ่มจนแต่งงานมีลูกแล้ว มันยังไม่เคยผิดเลย ฟังมันบ้าง”
แต่ในที่สุดเมื่อ “พล.อ.ชวลิต” ไม่เชื่อทั้งคำ “ดร.วีรพงษ์ และ พล.อ.เปรม” ประเทศก็เดินทางไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่ลามไปทั่วเอเชียในปี 2540 นั่นเอง
ตำนานระหว่าง “ป๋าเปรม” กับ “ดร.โกร่ง” ยังมีว่า ดร.วีรพงษ์ เคยหันหลังให้กับตำแหน่งที่ปรึกษาป๋า เพื่อจะไปรับตำแหน่งรองประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB)
“ครั้งหนึ่งตำแหน่งรองประธานเอดีบีว่างลง แล้วก็เป็นโควตาของประเทศไทย เราก็อยากจะไปหาสตางค์ เพราะเงินเดือนมันสูง ก็ไปล็อบบี้ “ท่านสิทธิ เศวตศิลา” รัฐมนตรีต่างประเทศ ว่า ผมอยากจะไปรับตำแหน่ง ท่านบอกเอาสิ แต่ให้ไปขอป๋าเอง ผมก็กะลิ้มกะเหลี่ยไปขอ “ป๋าเปรม” ท่านร้อง “ฮื้อ—แล้วเราคิดว่างานเอดีบี กับงานป๋าเนี่ย งานไหนสำคัญต่อประเทศชาติ และประชาชนไทยมากกว่ากัน” เจออย่างนี้เราจะตอบยังไง เราก็ครับ ถ้างั้นผมไม่ไป ก็เลยต้องอยู่ต่อ”
นั่นทำให้ 8 ปี 5 เดือนที่ “ดร.โกร่ง” ไม่ได้ไปไหน อยู่กับ “พล.อ.เปรม” มาตลอด ซึ่งป๋าเปรมได้บอกว่า “อย่าน้อยใจเลยนะ การที่เราเป็นที่ปรึกษายืนอยู่หลังป๋า แล้วสามารถซักรัฐมนตรีได้ทุกคนแทนป๋า เราน่าจะภูมิใจกว่าเป็นรัฐมนตรี เพราะป๋าไม่สามารถที่จะซักเขาได้อย่างเรา”
ต่อจาก รัฐบาลป๋าเปรม “ดร.วีรพงษ์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” อยู่ได้ไม่นานเกิดปฏิวัติรัฐประหาร โดย “บิ๊กสุ” พล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่จากนั้น พล.อ.สุจินดา ก็ลาออก เมื่อเลือกตั้งกันใหม่ “ดร.วีรพงษ์” จึงกลับเข้ามารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล “อานันท์ ปันยารชุน” ซึ่งนั่นถือเป็นการฝากผลงาน มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เป็นประวัติการณ์ หลายต่อหลายเรื่อง เช่น ปฏิรูประบบภาษีอากร การยกเลิกกำแพงภาษี การนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เป็นครั้งแรก หรือการริเริ่มตราพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน หรือ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
การถึงแก่อนิจกรรมของ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” จึงนับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของสังคม และแน่นอนว่า “ดร.โกร่ง” จะเป็นตำนานไปตราบนานเท่านาน.
** “รังสิมันต์ โรม” เมื่อปากกล้าก็อย่าขาสั่น กลัวผลกรรมที่จะตามมา
จากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งล่าสุด ปรากฏว่า มีเรื่องที่ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โร่ออกมาฟ้องสื่อ ตีโพยตีพายกรณีที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้องพรรค และตัวเอง หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่า ทำให้ถูกฟ้อง 3 คดี โดยคดีที่ 1 เป็นการฟ้องพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ที่เผยแพร่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการฟ้องในคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
คดีที่ 2 เป็นการฟ้องตัวเองในคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเขาได้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร และนำสิ่งที่อภิปรายไม่ไว้วางใจมาเผยแพร่ต่อ และคดีที่ 3 เป็นคดีแพ่ง ถูกฟ้องฐานละเมิด โดยเรียกค่าเสียหายมูลค่า 100 ล้านบาท!!
“รังสิมันต์” บอกว่า การฟ้องดังกล่าวนี้ ตัวเองจะต่อสู้คดีไป แต่ก็อ้างว่าเป็นห่วงผลกระทบที่จะตามมา คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะเวทีที่ใหญ่สุด คือ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าไม่พาดพิงบุคคลภายนอกเลย จะไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ เพราะถ้าต้องการตรวจสอบการทุจริตความผิดพลาดในเชิงนโยบาย ศีลธรรม หรือคุณธรรมของรัฐบาล สุดท้ายล้วนเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอกทั้งสิ้น
งานนี้ พูดกันตามตรง “ทั่นโรม” จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างไรก็ไม่มีใครว่า จะอภิปรายพูดอะไรในสภาฯ ก็ว่ากันไป แต่หากไปพาดพิงให้บุคคลภายนอกให้เสียหาย แน่นอนว่า บุคคลนั้นๆ ไม่มีโอกาสชี้แจงในสภาฯ ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้อง เป็นสิทธิของเขาที่จะปกป้องตัวเองด้วยการพึ่งกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องธรรมดา จริงหรือเท็จก็ไปพิสูจน์กันในศาล
วิญญูชนย่อมเข้าใจความเป็นไปในส่วนนี้ได้ “รังสิมันต์” เมื่อปากกล้า และถ้ามั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นการปกป้องความยุติธรรม ความถูกตัองของสังคม ก็ต้องพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรมต่อไป และควรจะต้องยอมรับ ไม่น่าต้อง “ขาสั่น” เมื่อถูกฟ้องขึ้นมา
เรียกว่า เห็น “ทั่นโรม” ปากกล้าขาสั่นแบบนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นคุณลักษณะของพรรคก้าวไกล หรือไม่ ? ที่เล่นบทอีแอบ ชอบไปยุเด็กรุ่นใหม่ แกนนำม็อบ 3 นิ้ว หรือกลุ่มเด็ก “ทะลุฟ้า” กระทั่ง “ทะลุแก๊ส” โดยอ้างว่า มีสิทธิ เสรีภาพให้ออกมาทำผิดกฎหมายแล้วก็โดนจับติดคุกกันหมด
เรื่องของกฎหมายเขามีไว้ให้ระมัดระวังและเป็นข้อควบคุมไม่ให้ทำผิด สิทธิ เสรีภาพ นั้นมีได้ แต่อยู่ในกรอบที่ต้องไม่ไปละเมิดหรือก้าวก่ายใครให้เสียหาย ใครๆ ก็รู้ แต่ดูเหมือนพรรคก้าวไกลจะหลับหูหลับตา ท่องแต่คำว่าประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ แล้วอยู่เหนือกฎหมายนั่นจะได้อย่างไร ก็เห็นๆ กันว่า สุดท้ายเยาวชนที่เป็นแนวร่วมของ “ก้าวไกลและรังสิมันต์” ถูกดำเนินคดีถูกจองจำก็เพราะความหลงเชื่อ เชื่อในสิ่งทีผิดๆ ของผู้ใหญ่ที่ปลูกฝังล้างสมองกันแบบนี้
เพราะฉะนั้น งานนี้ก็ต้องย้ำว่า “รังสิมันต์ โรม” เมื่อปากกล้าแล้วก็อย่าขาสั่นเลย ก็ต้องคอยรับผลกรรมที่จะตามมาด้วย!!