xs
xsm
sm
md
lg

สตง.พบความซ้ำซ้อน ตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเกษตร งง! 3 หน่วยงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเกษตร ทำงานซ้ำซ้อนกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.เปิดความซ้ำซ้อน ในยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเกษตร ตลอด 5 ปี ที่ใช้งบกว่า 1.4 หมื่นล้าน พบปมการคัดเลือกโครงการเข้าสู่แผนแม่บทย่อย 6 แผน ใน 11 หน่วยงาน มีปัญหาทั้งการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ พบบางโครงการ มีชื่อเดียวกัน ซ้ำซ้อน/กิจกรรมใกล้เคียงกัน งง! หน่วยงานรับผิดชอบ “ขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ” ซ้ำซ้อนกัน 3 หน่วยงาน

วันนี้ (5 พ.ย. 64) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. เผยแพร่ผลการตรวจสอบ ของสำนักตรวจสอบการดำเนินงานที่ 3 ต่อใช้เงินงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของ 11 หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดําเนินโครงการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้แผนแม่บท ประเด็นการเกษตร

วงเงินประมาณในช่วง 5 ปีแรก พ.ศ. 2561-2565 จำนวน 14,655.77 ล้านบาท ใน 113 โครงการ

ประกอบด้วย แผนแม่บทย่อย 6 แผน ได้แก่ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร

จากการตรวจสอบข้อมูลโครงการภายใต้แผนแม่บท ประเด็นการเกษตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จากระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผ่าน สศช. และสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร

พบว่า การบรรจุโครงการลงแผนแม่บทย่อยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ยังขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งการคัดเลือกโครงการเข้าสู่แผนแม่บทย่อย และการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ทั้งในประเด็นตัวชี้วัด/เป้าหมาย คํานิยาม และความสอดคล้องของแผนมาสู่หน่วยงานต่างๆ

“หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรจุโครงการชื่อเดียวกัน ซ้ำซ้อน หรือมีกิจกรรมใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ หน่วยงานส่วนใหญ่จะบรรจุโครงการอยู่ภายใต้แผนแม่บทย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร แต่มีบางหน่วยงานบรรจุไว้ในแผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ และเกษตรชีวภาพ เป็นต้น”

สตง.เห็นว่า การกําหนดแนวทางและข้อมูลที่จะใช้ประกอบการดําเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจยังไม่เพียงพอสําหรับการดําเนินงาน เช่น การให้คํานิยามที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้การเชื่อมโยงกิจกรรม/โครงการไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับ 1 และ 2 อาจมีความคลาดเคลื่อน

สตง. เชื่อว่า สาเหตุนี้ จะส่งผลให้แต่ละหน่วยงาน ที่อาจมีความเข้าใจคํานิยามแตกต่างกัน โดยบางโครงการคํานิยามอาจคาบเกี่ยวมากกว่า 1 แผนแม่บทย่อย สามารถตีความหมายได้หลากหลาย ทำให้ไม่เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

โดยเฉพาะ การกําหนดตัวชี้วัดของหน่วยงานส่วนใหญ่เป็นตัวชี้วัดในระดับโครงการ เช่น จํานวนราย/ครั้ง/ความพึงพอใจ ซึ่งอาจยังไม่สามารถสะท้อนหรือแปลงค่าตัวชี้วัดไปสู่ตัวชี้วัดตามแผนแม่บทย่อยได้

“รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ใช่กลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (กลุ่ม ป.ย.ป.) ในสํานักงานปลัดกระทรวง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีโดยในทางปฏิบัติ”

สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเพียงหน่วยงานที่ทําหน้าที่แทนกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปยป.กษ.) เพราะสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทําแผนงาน/โครงการในภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายต่างๆ

ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับสํานัก/กองแผนงานภายใต้สังกัดสํานักงานปลัดในกระทรวงอื่นๆ ทําให้ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาบางครั้งอาจเกิดปัญหาการประสานงานซ้ำซ้อนกันระหว่าง สศช. ปยป.กษ. และสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ขณะที่ประเด็นปัญหาการขาดข้อมูลสำคัญบางส่วนที่จะใช้สนับสนุนการรายงานผลตัวชี้วัดตามแผนแม่บทย่อย ภายใต้แผนแม่บทประเด็นการเกษตร เนื่องจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กําหนดเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนแม่บท ประเด็นการเกษตร ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวไม่มีฐานข้อมูลรองรับ ทําให้ข้อมูลที่นํามาใช้วัดผลจําเป็นต้องใช้เท่าที่มีอยู่ อีกทั้งตัวชี้วัดบางตัวเป็นตัวชี้วัดใหม่

บางหน่วยงานยังไม่เคยมีการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้มาก่อน หากต้องมีการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นจากภารกิจเดิมของหน่วยงาน อาจทําให้หน่วยงานมีภาระทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร ประกอบกับ ข้อมูลที่ใช้ในการรายงานผลการดําเนินงานของหน่วยงานในสังกัด เป็นการรายงานผลตามตัวชี้วัดของสํานักงบประมาณเป็นหลัก

เนื่องจากหน่วยงานมีหน้าที่ต้องรายงานผลการดําเนินงานตามตัวชี้วัดที่กําหนดไปยังหลายหน่วยงาน เช่น สศช. สํานักงบประมาณ และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งแนวทางการติดตามผลการดําเนินงานและการกําหนดตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงานยังไม่สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม สตง. ได้ส่งข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น