รมต.อนุชา ย้ำ หน่วยงานรัฐต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ แนะปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใส และตัวชี้วัดความโปร่งใส 6 ด้านอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (18 ต.ค.) ณ ห้องประชุม 108 อรรถไกรวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VDO Conference)
สําหรับการประชุมคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในวันนี้ คณะอนุกรรมการ ได้รายงาน ผลดําเนินการเรื่องร้องเรียนและเรื่องอุทธรณ์ พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่า 600 เรื่องต่อปี ซึ่งสาเหตุสําคัญมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคําขอข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น คณะกรรมการ จึงให้ความเห็นชอบแก้ไขกฎกระทรวงให้เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทวิชาการ ระดับชํานาญงานที่เป็นหัวหน้า ระดับชํานาญการขึ้นไป ประเภทอํานวยและประเภทบริหาร โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่นก็สามารถเทียบเคียงได้ มีอํานาจในการพิจารณาการเปิดเผยข้อมูล ข่าวสาร ซึ่งจะทําให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง ทันการณ์ ตามนโยบายการเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) เพื่อให้ประชาชนสามารถนําข้อมูลข่าวสารไปสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดได้
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 เห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใสและตัวชี้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานของรัฐตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวมี 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) การจัดหาพัสดุ 2) การให้บริการประชาชน 3) การบริหารงานของหน่วยงาน 4) การบริหารงบประมาณ 5) การบริหารงานบุคคล และ 6) การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานรัฐปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใสและตัวชี้วัดความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด และนําข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ในศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบราชการสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตามแผน Big Rock การปฏิรูปประเทศ โดยข้อมูลข่าวสารของรัฐที่เปิดเผยประชาชนต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งนี้ ต้องมีความความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้