xs
xsm
sm
md
lg

“สิระ” นำกรณี “แม้ว” แทรกแซง พท.หารือ กมธ.กม.ศึกษาตามอำนาจ รธน.ปัดชี้ถูกผิด “โรม” โดดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (แฟ้มภาพ)
ปธ.กมธ.การกฏหมาย นำเรื่อง “ทักษิณ” แทรกแซงกิจกรรม พท.มาหารือ เหตุมีคนร้องยุบพรรค แจงไม่ได้ชี้ว่าถูกหรือผิด แต่เป็นการศึกษาอำนาจตาม รธน. หลัง “โรม” โดดแย้งควรพิจารณาอำนาจหน้าที่ กมธ.ก่อน เพราะเป็นเรื่องใหญ่

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.การกฎหมายฯ เป็นประธานการประชุม ได้มีการนำเรื่องที่ นายสรชัช ทองเพ็ญ ผู้ประสานงานเครือข่ายธรรมาภิบาลเพื่อการเมืองสุจริต ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลคุยกับกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อวางตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเลือกตั้งสมัยหน้า ซึ่งอาจเข้าข่ายยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำและแทรกแซงกิจกรรมพรรคการเมือง ทำให้สมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระ ขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมีโทษยุบพรรคนั้น ได้เชิญ นายสมพล พรผล ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นนักวิชาการทางกฎหมายและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าให้ข้อมูล ขณะที่ในส่วนของผู้ร้องไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุม ทาง กมธ.แต่ละคนได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ กมธ.ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ถึงอำนาจหน้าที่ของ กมธ.การกฎหมายฯ ว่า มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.การกฎหมายฯ กล่าวว่า เราควรพิจารณาก่อนว่าเรามีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง และตนไม่อยากเห็นการใช้ กมธ.ในลักษณะการสร้างกระบวนการที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมือง อีกทั้ง กมธ.มีเรื่องร้องเรียนต่างๆมากมาย ทำไมเราไม่นำมาพิจารณาก่อน หน้าที่ของ กมธ.คือ การตรวจสอบรัฐบาลและฝ่ายบริหารมากกว่า ถ้าเรามุ่งสู่การพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป สุดท้ายแล้วเราจะได้อะไร รวมถึงวันนี้ผู้ร้องเรียนไม่มาร่วมประชุม และยังไม่ได้เนื้อหารายละเอียดที่ครบถ้วนจากทาง กกต. ซึ่งยังไม่ได้รับการประเมินอย่างรอบด้าน จึงขอให้ทุกคนช่วยพิจารณากันก่อนด้วย

ทั้งนี้ นายสิระ พยายามชี้แจงในที่ประชุม ว่า การนำเรื่องนี้มาพิจารณาเราไม่ได้ชี้ว่าถูกหรือผิด แต่เป็นการศึกษาอำนาจตามรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น