นายกรัฐมนตรีให้นโยบายทุกหน่วยงานร่วม “พลิกโฉมประเทศไทย” พร้อมการเปิดประเทศ ททท.ขานรับเปิดตัว “พลิกโฉมการท่องเที่ยวใหม่” Amazing Thailand, Amazing New Chapters
วันนี้ (3 พ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบโรคโควิด-19 นั้น นายกรัฐมนตรีได้มีแนวนโยบายที่จะการเปิดประเทศครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนร่วมกัน “พลิกโฉมประเทศไทย” ยกระดับภารกิจที่ดูแลด้วยแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้เข้าสู่วิถีใหม่ในทุกมิติ
“นายกรัฐมนตรีต้องการให้การเริ่มเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. เป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมประเทศไทยในทุกมิติ ซึ่งในการประชุม ศบศ. นัดล่าสุด ท่านก็ได้ฝากให้ทุกส่วนราชการช่วยกันหาแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน ทั้งส่วนที่ดำเนินการได้เลย และส่วนที่ใช้เวลาเช่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่จะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้ระยะยาว” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วยการเปิดตัวแนวคิดการท่องเที่ยวไทยปี 2565 “พลิกโฉมการท่องเที่ยวใหม่” หรือ “Amazing Thailand, Amazing New Chapters” ที่ตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยว ด้วยเรื่องราวใหม่ๆ ที่มหัศจรรย์กว่าเดิม และมากกว่าที่เคยสัมผัส โดย ททท. จะเริ่มโปรโมทการท่องเที่ยวไทยตามแนวคิดดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเวลานี้จนต่อเนื่องถึงปี 2565
Amazing Thailand, Amazing New Chapters นอกจากจะเป็นแนวคิดที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ (new normal) เน้นการดูแลสุขภาพอนามัย และความปลอดภัย ภาคธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่ใช้งานออนไลน์เป็นหลักแเละลดความเสี่ยงโควิด-19
ทั้งนี้ ททท. ได้วางแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี โดยประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เข้าสู่การท่องเที่ยวแบบ new normal ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนโมเดลใหม่ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพ เน้นตลาดที่หลากหลายทั้งนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล เช่น ยุโรป อเมริกา ตลาดระยะใกล้ จากเอเชีย อาเซียน ไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง