xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เสริมแกร่ง “SoftPower” ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขัน e-Sport

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายกฯ เสริมแกร่ง Soft Power ไทย ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขัน e-Sport เติมสิทธิประโยชน์ให้กองถ่ายต่างประเทศที่เข้าถ่ายทำในประเทศไทย สร้างรายได้แล้วกว่า 3.4 พันล้านบาท

วันนี้ (1 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มุ่งส่งเสริมการใช้ “Soft power” ส่งออกวัฒนธรรมไทยผ่านการออกแบบ ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ กีฬา ซอฟต์แวร์ และดนตรี เพื่อส่งเสริมความเป็นไทย สินค้าแบรนด์ไทย ท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต โดยตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ คือ โครงการนำร่องการแข่งขันกีฬาเจ็ตสกี ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ขับเคลื่อนจนยกระดับเป็นการแข่งขันทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกีอันดับที่ 1 ของโลก WPG#1 World Series เป็นลิขสิทธิ์แบรนด์ไทย เติบโตครอบคลุมทั้งทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา โดยในปี 2019 ได้มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความสวยงามของประเทศไทย สู่เครือข่ายแฟนกีฬานับพันล้านคน 54 ชาติ 20 ภาษา มีนักกีฬาและทีมนานาชาติเข้าร่วมจำนวนกว่า 3,000 คน และสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้กว่า 700 ล้านบาท ส่วนแผนกลยุทธ์สำหรับการเดินหน้าต่อ คาดว่า จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท เพราะจะมีการต่อยอดด้วยการสร้างทัวร์นาเมนต์อื่นๆ ในประเทศ การขับเคลื่อนกีฬาและธุรกิจ และการขยายอุตสาหกรรมกีฬาแบรนด์ไทย

ล่าสุด นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรม e-sport ของไทยอย่างเต็มที่ ตั้งเป้าให้เป็นสถานที่แข่งขันในระดับโลก ซึ่งขณะนี้กีฬา e-sport ถือเป็นกีฬาอาชีพอย่างเป็นทางการแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ของประเทศไทยด้วย โดยนอกจากการจัดแข่งกีฬาอีสปอร์ตแล้ว การสนับสนุนต้องให้ครอบคลุมการส่งเสริมพัฒนาสมาคมกีฬาและนักกีฬา e-sport และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมด้วย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยถึงมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยรัฐบาลกำหนดให้หากมีการถ่ายทำและใช้จ่ายในประเทศไทย 50 ล้านบาทขึ้นไป จะได้สิทธิประโยชน์เงินคืน 15% บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเลือกรวมได้ไม่เกินอีก 5% ได้แก่ 1) การจ้างบุคลากรหลักของไทย (Key Personnel) เป็นคณะทำงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ (+3%) 2) ส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมหรือภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย (+2%) 3) ถ่ายทำภาพยนตร์ในจังหวัดเมืองรอง (+3%) 4) ถ่ายทำในประเทศไทยก่อน 31 ธ.ค. 65 และใช้จ่ายในประเทศไทย 100 ล้านบาทขึ้นไป (+5%) โดย 5% ที่เพิ่มขึ้นนี้ เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์รายใหญ่ให้นำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ หลังการผ่อนปรนมาตรการถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตัวเลขนับตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค ปีนี้ มีบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยรวม 71 เรื่อง ในพื้นที่ 29 จังหวัด สร้างรายได้เข้าประเทศได้แล้วกว่า 3.4 พันล้านบาท โดยประเทศที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับในปี 2564 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และ จีน ตามลำดับ

“นายกรัฐมนตรียังมีแนวคิดให้ส่งเสริมให้มีการทำคอนเทนต์ หรือผลิตหนัง ละคร เพลง ที่ใช้วัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย เช่น อาหารไทย ศิลปะการแสดง กีฬา และการท่องเที่ยว เสริมความแข็งแกร่งให้กับ Soft Power ไทย และล่าสุด คือ กีฬา และ e-Sport ให้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น