xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพล ชี้ถึงเวลาเลือกตั้งเปลี่ยน รบ.ชู พท.มาแน่ “พิธา” นั่งนายกฯ มองพรรคเคลื่อนไหวแตกแยก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพล สำรวจความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองมองเป็นสัญญาณบ่งบอกความแตกแยก เชื่อปี 65 น่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. และมีการเปลี่ยนรัฐบาล ชูเพื่อแม้วมาแน่ แต่ให้ “พิธา” เต็งนั่งนายกฯ ย้ำถึงเวลาแล้วเลือกตั้งใหม่

วันนี้ (31 ต.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง กลุ่มตัวอย่าง 1,186 คน ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2564 พบว่า ประชาชนมองว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ณ วันนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในพรรคการเมือง ร้อยละ 60.09 คิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในต้นปี 2565 ร้อยละ 57.86 หากมีการเลือกตั้งใหม่ก็จะทำให้ได้เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 58.31 ถ้ามีการเลือกตั้งคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด ร้อยละ 32.94 รองลงมาคือ ก้าวไกล ร้อยละ 25.21 นายกรัฐมนตรีที่อยากได้ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 28.67 รองลงมาคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 21.27 โดยภาพรวมประชาชนคิดว่าถึงเวลา แล้วที่จะเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 70.29

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย การขยับตัวของพรรคการเมือง ทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่ในช่วงนี้ ดูเหมือนจะเป็นการเตรียมตัวรับการเลือกตั้งใหม่ ที่อาจจะเกิดขึ้นไวกว่ากำหนดเดิม ถึงแม้ประชาชนจะมองว่าการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกภายในพรรค และเป็นเพียงการสร้างกระแส แต่ก็ต้องยอมรับว่า ฝ่ายประชาชนเองก็ลุ้นอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว กระแสของพรรคเพื่อไทยยังคงไปได้ด้วยดี แต่กระแสนายกฯจากการสำรวจครั้งนี้ กลับเป็น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่มีกระแสดีมากขึ้น ต้องมารอดูกันว่าถ้ามีการเลือกตั้งจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองได้จริงหรือไม่ เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และทุกความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองนั้นก็อยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ

อาจารย์ชมพูนุท วิริยะสุนทร อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ระบุถึงความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองไทยในช่วงเวลานี้ เช่น การลงพื้นที่ การประกาศตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. การประกาศตัวว่าที่นายกรัฐมนตรี ล้วนเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐสภามีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแทนที่การใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 1 ใบ รวมถึงมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน (จากเดิม 350 คน) และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (จากเดิม 150 คน) ถึงแม้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยันว่าไม่มีทางยุบสภา แต่การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ โดยตัวเร่งที่เป็นปัจจัยให้นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจยุบสภา คือ เหตุภายในสภาเรื่องความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐที่ยากเกินจะเยียวยา ความไร้เสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล อุบัติเหตุทางการเมือง หรือเหตุภายนอกสภาที่อาจจะเป็นเหตุแทรกแซงได้ทุกเมื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น