xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพล ไม่เชื่อมั่น รบ.ป้องกันน้ำท่วม จี้เร่งช่วยมีผลต่อการดำเนินชีวิต จัดการให้มีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพล สำรวจผลกระทบน้ำท่วม ส่วนใหญ่มองปัญหาอุปสรรคเกิดจากภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ควรตระหนักให้ความสำคัญจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ชี้ มีผลต่อการดำเนินชีวิต จี้ รบ.เร่งช่วยเหลือ แต่มองขาดความเชื่อมั่นไม่น่าจะป้องกันได้

วันนี้ (10 ต.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยที่ได้รับผลกระทบจาก น้ำท่วม 2564” โดยสำรวจเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำนวนทั้งสิ้น 569 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม 2564 พบว่า ปัญหาและอุปสรรคของน้ำท่วมครั้งนี้ คือ ภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ร้อยละ 70.49 สิ่งที่ควรตระหนัก และให้ความสำคัญ คือ ควรมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 77.03 โดยน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ร้อยละ 86.62 รองลงมาคือ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ร้อยละ 83.10 สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเร่งด่วน คือ ช่วยเหลือประชาชนที่น้ำท่วม ร้อยละ 87.35 และมองว่ารัฐบาลไม่น่าจะป้องกันน้ำท่วมได้ ร้อยละ 44.17

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย การสำรวจครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มองว่า น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติ และที่ผ่านมา ยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง บริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจึงได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือน และพืชผลทางการเกษตรเสียหาย รัฐบาลจึงควรแก้ปัญหาในระยะยาว นำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านน้ำและข้อมูล ที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและคนไทยอยู่ร่วมกับ “น้ำ” ได้โดยไม่ลำบาก

ผศ.ดร.พุทธิธร แสงรุ่งเรือง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และคณะจัดตั้งหลักสูตรสาธารณสุขเพื่อการท่องเที่ยวและธุรกิจสุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเกษตร สังคม และสิ่งแวดล้อม สาเหตุของน้ำท่วม เกิดได้จากภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อปริมาตรน้ำทะเลที่มากขึ้น การขัดขวางช่องทางการระบายน้ำและการซึมของน้ำลงสู่ ผิวดิน เช่น การสร้างสิ่งปลูกสร้าง การตกตะกอนจากพื้นที่ที่ไม่มีพืชปกคลุม นอกจากนี้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร มีผลกระทบจากลมมรสุมและพายุ จึงทำให้น้ำท่วมทวีความรุนแรง การแก้ปัญหาคือการวางแผนในระยะยาว การป้องกัน ความพร้อมในการรับมือ ความแม่นยำของข้อมูลเพื่อนำมาใช้ตัดสินใจ รวมถึงการถอดบทเรียนจากต่างประเทศมาเป็น Best Practice การร่วมมือกันในชุมชนและการประสานหน่วยงานในการแก้ปัญหา จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมได้รับการบรรเทา ซึ่งใช่ว่าน้ำท่วมจะมีแต่ผลเสีย ผลดีคือช่วยเติมระดับน้ำใต้ดิน ทำให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ดังนั้น การมองเชิงบวกและร่วมกันแก้ไขปัญหา จะทำให้เราฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ในช่วงเวลานี้และในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น