โดย ดร.ณัฐพล แย้มฉิม
ประธานสวนดุสิตโพล
“โพล” (Poll) หรือ การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (Public Opinion Poll) เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้สึก ต่อสถานการณ์ เหตุการณ์ หรือประเด็นที่เป็นที่สนใจของสังคม ณ เวลานั้น ซึ่งโดยทั่วไปการทำโพล หรือการสำรวจความคิดเห็นนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาจากการการสุ่ม โดยอาศัยกระบวนการขั้นตอนของการวิจัยมาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้โพลหรือการสำรวจนั้นเป็นไปตามหลักวิชาการ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้
หลักการกระบวนการขั้นตอนของการวิจัยที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักการวิธีการในการทำโพล มีทั้งการสร้างเครื่องมือหรือแบบสอบถาม การเลือกกลุ่มตัวอย่างการเลือกกพื้นที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ขนาดหรือจำนวนของกลุ่มอย่างในการเก็บรวบรวมข้อมมูล หรือที่เรียกว่า “การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง”
โดยทั่วไปอาจกล่าวได้ว่า การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ หรือการทำโพลนั้นถึงแม้จะนำกระบวนการขั้นตอนการวิจัยมาใช้ แต่ก็ไม่ถือเป็นการวิจัย เพราะยังขาดองค์ประกอบ ขั้นตอนต่าง ๆ ของการวิจัยอีกมาก แต่ถ้าจะนำผลการสำรวจ หรือผลที่ได้จากโพลนั้นไปต่อยอด สร้างมูลค่า ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำวิจัย หรือนำไปใช้อ้างอิงในการวิจัยก็อาจทำได้
เมื่อ “โพล” ไม่ใช่ “การวิจัย” จะเกี่ยวข้องกับ “จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์” (Ethics in Human Research) หรือไม่ มีสิ่งที่ต้องคำนึง หรือต้องระมัดระวังอะไรบ้าง ในเมื่อ “โพล” เก็บรวบรวมข้อมูลจากมนุษย์ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยในการดำเนินงาน ในเมื่อรู้จัก “โพล” แล้วก็ต้องทำความรู้จักเกี่ยวกับ จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้วย
จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (Ethics in Human Research) ถือเป็นหลักจริยธรรมทั่วไป (Ethical Principles) ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อปกป้องศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัย (ผู้ให้ข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มทดลอง) ซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญ คือ หลักการเคารพในความเป็นมนุษย์ (Respect for Person) หลักคุณประโยชน์ไม่เป็นโทษ (Beneficence and Non-Maleficence) และหลักความยุติธรรม (Justice)
ดังนั้นในการทำวิจัยไม่ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทางสังคมศาสตร์ หรือทางพฤติกรรมศาสตร์ การทำวิจัยในมนุษย์ หรือการทำวิจัยในสัตว์ และอาจรวมไปถึงการทำวิจัยใด ๆ ต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมในการทำวิจัย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มีประกาศแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการวิจัยในมนุษย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ส่วนหนึ่งระบุว่า โครงการวิจัยที่ไม่ต้องขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของสถาบัน โดยหนึ่งในนั้น คือ โครงการวิจัยที่ออกแบบสอบถาม สัมภาษณ์หรือสังเกตผู้รับการวิจัยซึ่งมิได้กระทำต่อหรือมีผลต่อรางกาย จิตใจ เซลล์ ส่วนประกอบของเซลล์ สารพันธุกรรม สิ่งส่งตรวจ เนื้อเยื่อ สารคัดหลั่ง สุขภาพหรือพฤติกรรม ทั้งนี้ ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โครงการวิจัยซึ่งมีการสังเกตพฤติกรรมในชุมชนหรือในสังคมเป็นการทั่วไปโดยวิธีการเก็บข้อมูลนั้นไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
แม้ว่าการทำโพลจะไม่ใช่การวิจัย และไม่เข้าข่ายการควบคุมจริยธรรมการวิจัย แต่การทำโพล การรวบรวมความคิดเห็นก็ยังต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรม การให้เกียรติ การเคารพผู้ให้ข้อมูล ไม่เก็บ และเผยแพร่ข้อมูลที่จะส่งผลถึงผู้ให้ข้อมูล ที่จะนำไปสู่ผลกระทบทางด้านร่างกาย หรือจิตใจทั้งทางตรงและทางอ้อม และรวมไปถึงการเผยแพร่ผลโพลที่ไม่บิดเบือนความคิดเห็นถึงจะบอกได้ว่าเป็น “โพลมีจริยธรรม”