สวนดุสิตโพล สำรวจฉีดวัคซีนกับเยาวชน ส่วนใหญ่พร้อมให้บุตรหลานฉีด เชื่อมั่นประสิทธิภาพวัคซีน มองมีผลดีมากกว่าเสีย ห่วงอาการข้างเคียง อยากให้รัฐมาฉีดที่โรงเรียน หนุนฉีดเพื่อให้ได้มาเรียนต่อ
วันนี้ (3 ต.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีบุตรหลานในวัยเรียนต่อกรณี “การฉีดวัคซีนให้กับเยาวชนอายุ 12-17 ปี” จำนวนทั้งสิ้น 1,089 คน ระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2564 พบว่า ประชาชนที่มีบุตรหลานพร้อมให้บุตรหลานไปฉีดวัคซีน ร้อยละ 61.43 ขอรอดูก่อน ร้อยละ 26.17 และไม่พร้อม ร้อยละ 12.40 โดยเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ร้อยละ 64.72 คิดว่า การฉีดวัคซีนมีผลดีมากกว่าผลเสีย ร้อยละ 46.74 มีทั้งผลดีและผลเสียพอๆ กัน ร้อยละ 40.96 เรื่องที่เป็นห่วง คือ อาการข้างเคียงหลังฉีด ร้อยละ 77.59 ทั้งนี้ อยากให้จัดการฉีดวัคซีนให้ ที่โรงเรียน ร้อยละ 64.13 และเห็นด้วยกับการฉีดวัคซีนเพื่อให้เปิดเรียนได้ตามปกติ ร้อยละ 75.44
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย ผู้ปกครองพร้อมให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนถึงแม้ยังกังวลเรื่องผลข้างเคียง โดยคาดว่าจะช่วยให้บุตรหลานสามารถไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยลดระดับความเครียดของผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานที่บ้านอีกด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลโพลในต่างประเทศ พบว่า ผู้ปกครองยังไม่พร้อมมากนัก เพราะยังกังวลผลในระยะยาว วัคซีนสำหรับเด็กอาจเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์โควิด-19 ได้ และเด็กทุกคนรวมถึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วก็ควรได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดวัคซีนที่ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการฟื้นฟูด้านการศึกษาและเศรษฐกิจของประเทศ
ด้าน ดร.รุ่งนภา ป้องเกียรติชัย ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เผย จากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนมีความพร้อมที่จะให้บุตรหลานเข้ารับวัคซีน อาจเนื่องจากความเชื่อมั่นในการป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับข้อมูลที่พบว่าหลายประเทศได้เริ่มมีการฉีดให้กับเด็กในวัยนี้ จึงทำให้เห็นว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะเรื่องการเปิดโรงเรียนเพื่อเรียนได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนยังกังวลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของการได้รับวัคซีน เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดในเด็กที่ได้รับวัคซีนแล้ว อาจยังมีค่อนข้างน้อย และสำหรับประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นในการฉีดวัคซีนให้กับเด็กกลุ่มนี้ ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจหรือลดความเป็นห่วง ทั้งนี้ การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวก่อนและหลังรับวัคซีน และข้อมูลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เป็นต้น จะช่วยลดความกังวลลงได้