xs
xsm
sm
md
lg

‘อริย์ธัช’ ห่วง ผลกระทบโควิดทำคนไร้บ้าน กทม.พุ่ง จี้ หาระบบรองรับเพื่อกลับเข้าสังคมได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(27 ต.ค.) นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า เขตสวนหลวง-ประเวศ กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โควิด - 19 ใน กทม. จะดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีผลกระทบสืบเนื่องที่ต้องการการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในอีกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือปัญหาคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้านที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงและอีกกลุ่มหนึ่คือคนที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำที่ยังไม่สามารถหางานรองรับได้

“จากข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน ล่าสุดพบว่า จำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครพุ่งสูงกว่า 4,500 คน โดยโควิด-19 ทำให้มีคนเร่ร่อนเข้าสู่ระบบใหม่มากขึ้น ทั้งในส่วนของคนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เช่น ถูกเลิกจ้างหรือค่าแรงลดลงทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าที่พักได้ จึงต้องออกมาเร่ร่อนเป็นคนไร้บ้าน ทั้งที่พวกเขายังมีศักยภาพในการทำงานเพียงแต่ถูกสถานการณ์บีบทำให้ต้องอยู่ในสภาพนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาระบบช่วยเหลือดูแล เช่น ที่พักชั่วคราวและระบบจัดหางานที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้”

นายอริย์ธัช กล่าวต่อว่า ในอีกส่วนหนึ่งยังมีกลุ่มคนที่เพิ่งพ้นโทษ ยังรอหางานทำ และยังไม่มีที่พักอาศัย ทำให้ต้องมาเร่ร่อน ในภาพใหญ่ถือว่าเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่สามารถหาระบบรองรับผู้ต้องขังได้อย่างครบวงจรเพื่อคืนคนดีกลับสู่สังคมได้ การพ้นโทษแต่ไม่มีที่ทางรองรับจะพาพวกเขากลับเข้าสู่วัฏจักรของการทำผิดหรืออาชญากรรมได้ง่าย ดังนั้น ในระยะยาวอาจต้องมองถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ต้องทำให้การติดคุกไม่ใช่แค่การทำโทษให้หลาบจำแต่ต้องเป็นการขัดเกลาทั้งจิตใจและทักษะอาชีพรวมถึงโอกาสใหม่จากสังคมที่พร้อมรองรับ ไม่ใช่การปล่อยให้ต้องไปเผชิญชะตากรรมแบบเดิมๆ ซึ่งทำให้สังคมไทยเสียโอกาสด้านทรัพยากรมนุษย์ทั้งที่พวกเขาอาจแค่ทำพลาดในช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิอิสรชนพบว่า กลุ่มคนเร่ร่อนที่เพิ่งออกจากเรือนจำส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มจากในเรือนจำ แต่ไม่มีเอกสารรับรองจึงทำให้ไม่สามารถไปยื่นขอสมัครงานหรือทำงานได้  เชื่อว่า หากมีการแก้ไขตรงนี้ได้เร็ว ทำให้คนเร่ร่อนเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้ ปัญหานี้ในกรุงเทพก็จะคลี่คลายลง ไม่มีตัวเลขคนไร้บ้านสะสมสูงขึ้นไปซึ่งจะมีผลกระทบหลายอย่างตามมาและจัดการยากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลด้านสาธารณสุขหรืออื่นๆ 

นายอริย์ธัช กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้านต้องมีความเข้าใจ ไม่มองมิติเดียว บางส่วนเป็นเรื่องของปัญหาชั่วคราว เช่น ถ้ารู้ว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจจากโควิดก็ต้องรีบแก้ไขตรงนี้ ในอีกกลุ่มหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องทางจิตใจก็ต้องเยียวยาอีกแบบหนึ่ง เช่น มีปัญหากับครอบครัว มีอาการเกี่ยวกับจิตเภท ติดสุราเรื้อรัง คนที่ชอบชีวิตอิสระ  เด็กเร่ร่อนที่ออกมาทำงานเป็นขอทานหรือย้ายตามครอบครัว ต่างชาติที่อาจโดนหลอกหรือตกอับกลับประเทศไม่ได้ แรงงานต่างชาติที่รับจ้างไปเรื่อยค่าแรงถูกจึงอาศัยนอนในพื้นที่สาธารณะ และคนจนเมือง ซึ่งแต่ละปัญหาก็ต้องมีระบบรองรับและแก้ไขที่ต่างกันไป

“ปัญหาคนไร้บ้านมีความสำคัญและเป็นเสมือนดัชนีชี้วัดพื้นฐานด้านสวัสดิการที่รัฐหรือเมืองนั้นๆมีให้ประชาชน เพราะตรงนี้จะสามารถรองรับความเปราะบางทางเศรษฐกิจของพวกเขาได้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารบ้านเมืองหรือกรุงเทพ ซึ่งก็คือ ผู้ว่า กทม.ต้องใส่ใจ ยิ่งดัชนีตัวเลขคนไร้สูงขึ้นก็ยิ่งสะท้อนความล้มเหลวในการดูแลชีวิตคนในเมืองหลวง ในทางกลับกันถ้าทำให้กลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจได้รับการดูแลเพื่อปรับสภาพ เตรียมความพร้อมให้กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานและสังคมได้ ปัญหาคนไร้บ้านก็จะคลี่คลายลงและสิ่งที่จะชัดขึ้นพร้อมกันก็คือ เราจะเห็นสวัสดิการของรัฐที่คืนกลับมาให้ประชาชนมากขึ้นด้วยตามดัชนีขึ้นลงเหล่านี้ ” นายอริย์ธัช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น