xs
xsm
sm
md
lg

อีกเฮือก? “รุ้ง-ครูใหญ่” ปลุกม็อบ “31 ต.ค.” ล่าชื่อยกเลิก 112 “ดร.สุรพล” ชี้ “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์ความเสมอภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ “รุ้ง-ครูใหญ่” ปลุกม็อบ “31 ต.ค.” ล่าชื่อยกเลิก 112 ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
สามนิ้วดิ้น! “รุ้ง-ครูใหญ่” ปลุกม็อบราชประสงค์ ล่าชื่อ เลิก 112 “ดร.สุรพล” เสนออีกด้าน “พระเกี้ยว” คือสัญลักษณ์ความเสมอภาค เสรีภาพที่ ร.5 พระราชทานไว้ “เนติวิทย์” โต้ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ นายกคือ ปลัดดีอีเอส ลูกน้อง “ชัยวุฒิ”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(25 ต.ค.64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น รุ้ง-ครูใหญ่ตีปี๊บชุมนุมราชประสงค์-ปลุกระดมทำเพื่อตัวเอง?

โดยระบุว่า จากกรณีวันนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นฟ้องกลุ่มราษฎร ที่มีความผิดตามมาตรา 112
ทั้งนี้กลุ่มจำเลยดังกล่าวประกอบด้วย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ พร้อมพวก รวม 13 คน ประกอบด้วย 1.น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์ มหานคร) 2.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ DRG) 3.นายชนินทร์ วงษ์ศรี หรือ บอล 4.น.ส.เบนจา อะปัญ 5.นายวัชรากร ไชยแก้ว

6.นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (แอม) 7.นายอรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) 8. นายอัครพล ตีบไธสง 9.นายกฤษพล ศิริกิตติกุล 10. น.ส.สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ 11.น.ส.รวิสรา เอกสกุล 12.น.ส.ณัชชิมา อารยะตระกูลลิขิต และ 13.นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ เป็นจำเลยในความผิดมาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีชุมนุมอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563

ภาพ การเคลื่อนไหว ยกเลิก ม.112 ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
โดยวันนี้จำเลยเดินทางมาศาลด้วย ขณะที่ นายอรรถพล หรือ ครูใหญ่ กล่าวว่า วันนี้ไม่มีความกังวล กระบวนการทั้งหมดอาจใช้เวลาทั้งวัน โดยจะได้พบหน้า น.ส.เบนจา ผ่าน video conference จากในเรือนจำเป็นครั้งแรก โดยขอให้ประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ร่วมชุมนุมใหญ่วันที่ 31 ต.ค.นี้ ที่แยกราชประสงค์ เพื่อเดินหน้าการยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้มีอำนาจเริ่มมีการแจกคดีมาตรา 112 กับประชาชนย้อนหลัง

“ยืนยันว่าสังคมไทยจำเป็นต้องยกเลิกมาตรา 112 โดยแนวทางรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นแนวทางที่ประนีประนอมที่สุดแล้ว พร้อมทวงถามความกล้าหาญและเรียกร้องการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาฯ และพรรคการเมือง เพราะประเด็นนี้เป็นวาระแห่งชาติ

ถ้าพรรคการเมืองใดไม่ตอบรับเจตจำนงของประชาชนก็จะไม่มีที่ยืน แต่ในด้านกลับกัน พรรคการเมืองที่มีจุดยืนชัดเจนต่อเรื่องนี้ในการยกเลิกมาตรา 112 ก็อาจจะถูกผู้มีอำนาจยุบพรรคได้เช่นกัน แต่ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองจะมาทำหน้าซื่อตาใส ไม่รับรู้ปัญหาหรือไม่รู้ร้อนรู้หนาวในเรื่องนี้ และขบวนการเคลื่อนไหวราษฎรจะผลักดันเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด” นายอรรถพล ระบุ

ก่อนหน้านี้ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง กล่าวชี้แจงวัน เวลา และสถานที่การชุมนุม และรายละเอียดการจัดงาน ว่าจะจัดขึ้นที่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. โดยจะพยายามทำกิจกรรมให้ไม่เกิน 22.00 น.

“กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมีเวทีปราศรัย เวทีจะไม่เล็ก และมีการเข้าชื่อเพื่อล่ารายชื่อยกเลิก 112 ถ้าเราสามารถทำสิ่งนี้สำเร็จ จะถูกปรับจากถูกจำคุกและมีโทษปรับ เหลือเพียงมีโทษปรับอย่างเดียว นี่คือภารกิจที่ประชาชนต้องทำร่วมกัน” น.ส.ปนัสยากล่าว

ด้านนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ กล่าวด้วยว่า การชุมนุมที่จะจัดขึ้นเป็นการต้อนรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยจะมีการอ่านสาส์นจากในคุก และมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่รอติดตามได้ในวันที่ 31 ตุลาคม

“จะมีการเชิญชวนให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยจะเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกของการณรงค์ยกเลิกมาตราดังกล่าว”

ภาพ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ขอบคุณภาพจากสยามรัฐออนไลน์
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ในฐานะศิษย์เก่า อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซ บุ๊ก Surapone Virulrak ถึงกรณีที่ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ว่า

“ผมสดับตรับฟังเรื่องนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวอันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ปี 2564 นี้ โดยอ้างว่ามันเป็นการสำแดงรูปแบบของอำนาจเก่า ต้องเกณฑ์คนมาแบกหาม แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ผมจึงใคร่ขอให้เราท่านพิจารณาเรื่องนี้ให้สุขุมรอบคอบ

ประการที่ 1 พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์สมเด็จพระปิยมหาราชรัชกาลที่ 5 ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้เป็นตราของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้พวกเราชาวจุฬาฯอันเป็นประชาชนคนธรรมดาได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอหน้ากันสนองพระราชปณิธานของพระราชบิดา ซึ่งแต่เดิมจำกัดเฉพาะลูกขุนนาง

ประการที่ 2 รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกระบบไพร่ ซึ่งการยกเลิกระบบไพร่ให้เป็นไทแก่ตัว ก็เท่ากับทรงขัดผลประโยชน์เจ้านายขุนนางทั้งแผ่นดิน แต่เพื่อความเสมอภาคของราษฎร พระองค์ก็ทรงเสี่ยงกับเสถียรภาพของราชบัลลังก์

ประการที่ 3 รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส ในช่วงเวลาเดียวกับการเลิกไพร่ โดยไม่มีผู้ใดเดินขบวนเรียกร้อง แต่พระองค์ทรงเห็นว่าระบบทาสเป็นความป่าเถื่อน จึงทรงเลิกระบบทาสที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ทาสและไพร่จึงได้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เท่าเทียมกันทั้งแผ่นดิน

ประการที่ 4 พระองค์ทรงยกเลิกระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากระบบจตุสดมถ์ หรือ สี่แท่งคือ เวียง วัง คลัง นา ที่มีมาแต่ครั้งก่อนพระบรมไตรโลกนาถในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แล้วทรงสถาปนาระบบราชการเป็นกระทรวงทบวงกรม อันเป็นการกระจายพระราชอำนาจ และเปิดโอกาสให้ไพร่ทาสราษฎรทั้งปวงได้รับราชการ มีรายได้ มีเกียรติยศ อีกทั้งทรงออก พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร๒ปีแล้วปลดออกไปทำงานอาชีพมีรายได้ของตน
ประการที่ 5 รัชกาลที่ 5 ทรงเอาชีวิตเกียรติยศและพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์เป็นเดิมพัน ทรงตัดพระทัยยอมสละดินแดน ครึ่งหนึ่งของประเทศเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเอาไว้ เพื่อมิให้อังกฤษและฝรั่งเศสฉีกประเทศไทยออกเป็นสองเสี่ยงตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา

ทรงไปเจรจาหามิตรภาพกับนานาประเทศไกลถึงรัสเซีย และนอร์เวย์ ที่หนาวเหน็บนานถึงแปดเดือน เพื่อเอามิตรไมตรีมาช่วยค้ำจุนบ้านเมืองที่กำลังล่อแหลมต่อการตกเป็นเมืองขึ้น

ภาพ พิธี อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ประการที่ 6 ทรงให้เลิกหมอบคลาน ทรงนิยมเสด็จประพาสต้นแบบสามัญชนไปเยี่ยมเยียนพบปะพูดจาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับราษฎรใกล้ไกล และทรงนับไว้เป็นพระสหาย แม้เสด็จไปขึ้นรถรางแล้วถูกนายตั๋วไล่ลงเพราะไม่มีเงินค่าโดยสาร ก็เสด็จลงแต่โดยดี พฤติกรรมเหล่านี้คือ จิตวิญญาณของมนุษย์ผู้มีความเท่าเทียมอยู่ในพระกมลสันดาน

ดังนั้น “พระเกี้ยว” จึงไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจเก่า การกดขี่ และความไม่เท่าเทียม แต่พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทย ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้เมื่อเมืองไทยยังไม่มีประชาธิปไตย เป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์แห่งการอุทิศชีวิต ต่อสู้แสวงหา เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค ดังนั้นการอัญเชิญพระเกี่ยวไม่ใช่เพียงการประกาศเกียรติภูมิจุฬาฯ แต่เป็นการประกาศว่า เราคนไทยจักธำรงความเป็นคนที่มีกตัญญูกตเวที พร้อมใจกันยึดถือพระราชมรดก ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ สิ่งนี้เป็นอุดมคติร่วมแรงร่วมใจกันทำนุบำรุงนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคต อย่าหวังเลยว่าเราจะหวั่นไหวที่ไม่มีแห่พระเกี้ยว เพราะพระเกี้ยวสถิตอยู่ในจิตวิญญาณแห่งความเท่าเทียมกันของเราเสมอ”

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน สืบเนื่องจากกรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(อบจ.) ออกแถลงการณ์ ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ด้วยคะแนนเสียง 29: 0 ไปเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 64 โดยมีแถลงการณ์สนับสนุนจาก ชมรมเชียร์และแปรอักษร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลาย ๆ องค์กรนักศึกษาศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัย ต่อมาได้เกิดกระแสวิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากศิษย์เก่าและบุคคลภายนอก

อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่คัดค้าน และได้โพสต์แสดงความเห็นจน นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ออกมาแชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมกับข้อความตอบกลับว่า “ให้พี่ชัยวุฒิมาแบกเอง”

หรือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึง นายบรรยง พงษ์พานิช นักการเงินการธนาคารชื่อดัง ที่ออกมาหนุน โดยมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

ภาพ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
อย่างไรก็ตาม เวลา 14.00 น. ของวันนี้ (25 ต.ค.64) สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ สาระสำคัญว่าด้วยการเลื่อนจัดงานบอลครั้งที่ 75 เนื่องจากสถานการณ์โควิด และ ยืนยันจะมีขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวต่อไป

จากประเด็นนี้ ทำให้ นายเนติวิทย์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ออกมาทวิตข้อความ ถึงปมนี้อีกครั้งว่า “นายกสมาคมนิสิตเก่าคนปัจจุบันชื่อว่า อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นอกจากเป็นนายกสมาคม ก็เป็นปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนี้ก็คือ ชัยวุฒิ ที่พึ่งออกมาให้ความเห็นก่อนหน้านั่นเอง”

แน่นอน, นี่ถือเป็นการรุกคืบอีกก้าวหนึ่ง ในการต่อสู้เรียกร้องต่อสถาบันฯของขบวนการ “สามนิ้ว” และปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงมติให้ยกเลิกพิธีอัญเชิญ “พระเกี้ยว” ก็คือ หนึ่งในประเด็นต่อสู้ด้วย

เพราะเป็นที่ทราบกันดี ว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุค “เนติวิทย์” มีความใกล้ชิดกับ กลุ่มนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้า แค่ไหน เห็นได้จาก “เนติวิทย์” เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นายธนาธร และม็อบสามนิ้ว หลายครั้ง

ยิ่งกว่านั้น โดยสาระสำคัญที่เป็นข้ออ้าง ยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี่ยว ที่ว่า “มนุษย์เท่ากัน” และความเสมอภาค ก็คือ แนวคิดเดียวกัน ที่นายธนาธร-ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าเคลื่อนไหว

ยิ่งกว่านั้น ก่อนที่ อบจ.จะมีการออกแถลงการณ์ยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว ยังมีการเคลื่อนไหวในประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ และยกเลิก ม.112 มาก่อน อันเห็นได้ชัดว่า นี่คือ การเปิดเกมรุก จากทางฝั่ง จุฬาฯ หลังจากก่อนหน้านี้ การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะมาจากธรรมศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด

ทั้งยังน่าคิด ในท่ามกลางเกมต่อสู้ที่ขบวนการสามนิ้วเตรียม ม็อบใหญ่อีกครั้ง โดยคาดหวังว่า จะใช้เวทีนี้ในการล่าชื่อ ยกเลิก ม.112 หรือ กฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ กรณีหมิ่นประมาทให้ได้ จึงอาจเป็นการลองเชิงด้วยการยกเลิกสัญลักษณ์ของสถาบันฯ เพื่อชิมลาง และงานนี้ก็เป็นฝีมือของ อบจ. โดย “เนติวิทย์” เป็นผู้นำ

ดังนั้น ที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อยก็คือ การเคลื่อนไหวของม็อบในวันที่ 31 ต.ค. จะมีมวลชนที่เป็นนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นจะเป็นคำตอบด้วยว่า นิสิต นักศึกษาส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับ กิจกรรมนักศึกษาที่ดูเหมือน ถูกนำเอามาผูกโยงกับการเมืองระดับชาติอย่างชัดเจนแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น