xs
xsm
sm
md
lg

ให้มันจบที่รุ่น"เนติวิทย์"เถอะ ตรรกะวิบัติ "คนไม่เท่ากัน" ของฝ่ายประชาธิปไตย "ยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว" **จาก"รัสเซล โครว์" มาถึง "ลิซ่า" Soft Powerไทยใช้จริงจังขั้นสุดงานนี้ยังไงก็คุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ให้มันจบที่รุ่น"เนติวิทย์"เถอะ ตรรกะวิบัติ "คนไม่เท่ากัน" ของฝ่ายประชาธิปไตย "ยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว"

กรณีที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี "เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล" เป็นนายกฯ ออกแถลงการณ์ "ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" โดยให้เหตุผลว่า เป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน เพราะสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่า "คนไม่เท่ากัน"

สโมสรยังวิจารณ์ รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวว่า เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกคนกลุ่มหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง พร้อมสัญลักษณ์ของศักดินา คือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยังมีข้อกังขาว่าเป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชน มีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอใน เพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้นมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิ์อยู่ในหอพัก

พูดง่ายๆว่า ในความเห็นของ “เนติวิทย์และสโมสรฯ” กิจกรรมนี้ไม่มีดีในสายตาของพวกเขา

ผสมโรงด้วยฝ่ายที่เห็นด้วยว่า ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ก็คือการเกณฑ์คน 50 คน มาแบกหนุ่มหล่อ-สาวสวย ที่นั่งอยู่บนเสลี่ยงเหมือนทาส ในทศวรรษนี้ อะไรแบบนี้ควรสูญพันธุ์ไปได้แล้ว

เรื่องนี้เป็นสิทธิ์ของนิสิตจุฬาฯ เขามีสิทธิ์จะเอาหรือไม่เอาก็ได้ ถ้าเด็กมองว่าเขาสอบเข้ามาเพื่อศึกษาหาความรู้ ไม่ได้มาเพื่อแบกหามใคร เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอให้ยกเลิก

ไม่ว่าวัฒนธรรมประเพณีนั้นจะเก่าแก่ยาวนานแค่ไหน ถ้ามันไม่เข้าท่า ไม่เข้ากับยุคสมัย หรือตั้งอยู่บนความบิดเบี้ยวทางความคิด ก็มีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกได้ ไม่ใช่ว่าพอเป็นวัฒนธรรมแล้วต้องตะบี้ตะบันรักษาไว้ทั้งที่มันห่วย

กลุ่มคนเหล่านี้ยังมอง คนที่ออกมาดิ้น ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นศิษย์เก่า หรือศิษย์ปัจจุบันของจุฬาฯ เป็นแค่พวกอนุรักษ์นิยมที่ทนไม่ได้กับการต้องเห็นความเปลี่ยนแปลง

งานนี้ ต้องบอกว่า ที่มาของการยกเลิกย่อมต้องได้รับอิทธิพลทางความคิด ซึ่งเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "เนติวิทย์" และพวกพ้องฝ่ายประชาธิปไตยของเขา

ต้องไม่ลืมว่า “เนติวิทย์” คนนี้ไม่ธรรมดา เป็นนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ที่มีความคิดสุดโต่ง วีรกรรมที่ผ่านๆมาของเขาเป็นที่จดจำของสังคม ปี 2556 เคยโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณี"อั้ม เนโกะ" พยายามนำธงดำขึ้นบนยอดเสาที่ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนจะทิ้งท้ายว่าร้องเพลงชาติทีไรคลื่นไส้ทุกครั้ง!

เมื่อเดือนก.ค.59 “เนติวิทย์ และเพื่อน” จำนวน 8 คน ไม่ยอมหมอบกราบต่อหน้าพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอ้างเหตุผลว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ยกเลิกธรรมเนียมดังกล่าวเอง และเดินออกจากพิธีหลังกล่าวคำปฏิญาณต่อมหาวิทยาลัย

เรียกว่า “เนติวิทย์” มีความคิดต่อต้านในเรื่องทำนองนี้มาตลอด ชีวิตนิสิตฯก็เรียนควบคู่กับเคลื่อนไหวทางการเมืองจนมาปี 64 ได้รับเลือกให้เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นำออกแถลงการณ์ที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม

แน่นอนว่า เหตุและผลของสโมสรฯถูกตีขลุม เหมารวมว่าเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ ทั้งหมด แต่ในความเป็นไป มีเสียงไม่เห็นด้วยกับเนติวิทย์และพวกไม่น้อยเช่นกัน

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล - วินทร์ เลียววาริณ
ที่น่าสนใจ "วินทร์ เลียววาริณ" อดีตนิสิตจุฬาฯ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ถึง 2 ครั้ง ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจ "วินทร์ เลียววาริณ" ถึงประเด็นนี้ ระบุข้อความว่า

"จอร์จ ออร์เวลล์ (ผู้เขียน 1984, Animal Farm) เขียนว่า "The most effective way to destroy people is to deny and obliterate their own understanding of their history."

แปลว่า ทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำลายประชาชน คือ ปฏิเสธและกวาดทิ้งความเข้าใจของพวกเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง

ช่วงหลังนี้ผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับจุฬาฯหลายเรื่องซึ่งชวนอึดอัด ทั้งหมดฟังดูดี มีหลักการ ใช้คำพูดสวยหรู แต่อ่านระหว่างบรรทัดแล้ว ก็อดไม่ได้ต้องคิดว่ามันเป็นการ 'ตีวัวกระทบคราด' และ 'โยนหินถามทาง' และ 'กวาดทิ้งความเข้าใจ' ตามคำของ จอร์จ ออร์เวลล์ ข้างต้นหรือไม่

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ในชั้น ม.ศ.4 ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป เครื่องแบบนักเรียนปักอักษรย่อ บ.ด. บนหน้าอก แต่ต่างจากโรงเรียนส่วนใหญ่ เรากลัดตราสีทองชิ้นหนึ่งเหนืออักษรย่อ เข็มกลัดนั้นเรียกว่า พระเกี้ยว

หลังจากเรียนจบ ม.ศ.5 ผมมีโอกาสเข้าเรียนในสถาบันที่ใช้ตราพระเกี้ยวอีกครั้ง คือจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ในสมัยผมเข้าเรียน ไม่มีการันต์เหนือ ณ) คราวนี้พบว่าเนกไท ที่เด็กปี 1 ใส่ปักตราพระเกี้ยว ชุดนิสิตหญิงก็มีตรานี้เช่นกัน ทั้งที่กลัดบนเสื้อ และหัวเข็มขัด

พระเกี้ยวคืออะไรกันแน่ ? พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ เป็นสัญลักษณ์และพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มันมีความเชื่อมต่อกับรัชกาลที่ ๔ ด้วย เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ซึ่งล้วนใช้ตราที่มีความหมาย จุฬาฯ ก็เช่นกัน ในเมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงริเริ่มโครงการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ พระนามของพระองค์ ก็เป็นที่มาของนามมหาวิทยาลัย และใช้สัญลักษณ์พระเกี้ยวประจำมหาวิทยาลัย

ย้ำ - สัญลักษณ์พระเกี้ยว ไม่ใช่ว่าวจุฬาฯ

แอฟ ทักษอร - แต้ว ณฐพร
สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีรากฐานเดียวกันนี้ล้วนใช้ ตราพระเกี้ยว ไม่ว่าจะเป็นจุฬาฯ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา บดินทรเดชาฯ หอวัง และอีกหลายๆ โรงเรียน พระเกี้ยว ก็คือที่ระลึกชิ้นเล็กๆ ที่เชื่อมนักเรียนและนิสิตกับพระองค์ มันเป็นรากของเรา

เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มา ก็จะรู้ว่าพระเกี้ยวไม่ใช่ และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค มันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ริเริ่มสร้างมหาวิทยาลัย มันเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ และมันเป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญู ชาวจุฬาฯ ไม่ว่ารุ่นไหน อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ปราศจากเจ้าของตราพระเกี้ยวนี้ ก็ไม่มีเรา ไม่มีเราก็ไม่มีอนาคตของเรา

ใครก็ตามที่ชอบอ้างถึงอนาคตที่ดีกว่าโดยละทิ้งอดีต พึงสำนึกเสมอว่าอนาคตที่ไร้รากแห่งอดีตก็เหมือนคนที่ไร้เงา "ปฏิเสธและกวาดทิ้งความเข้าใจของพวกเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง" คุณค่าของมนุษย์เราอยู่ที่ความกตัญญูกตเวทิตา มีคุณให้ทดแทน และหากไม่ทดแทน อย่างน้อยก็ไม่เนรคุณ"

ไม่ใช่แค่"วินทร์" กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับสโมสรนิสิตจุฬาฯ ยังมีอีกมาก คนกลุ่มนี้มองว่าน่าเสียดายที่กิจกรรมนี้ถูกยกเลิก นี่คือการทำลายวัฒนธรรมเก่าแก่ดีงามด้วยน้ำมือของคนรุ่นใหม่ ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ประชาธิปไตย เอะอะอะไรก็อ้างเรื่องความเท่าเทียม สุดท้ายไทยจะไม่เหลือวัฒนธรรมดีงามอะไรอีกหรือไม่

ส่วนประเด็นที่อ้างว่า นิสิตฯถูกบังคับ ก็มีคนมองว่า ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวไม่ได้สวยอย่างเดียว แต่ต้องมีความพร้อมหลายด้าน เช่น เรียนดี ความประพฤติดี บุคลิกภาพดี เพราะต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยในการประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณี นำภาพลักษณ์ที่ดีของนิสิตจุฬาฯ สู่สังคม การคัดเลือกมีทั้งทำกิจกรรม สอบข้อเขียน และสัมภาษณ์

ถ้าย้อนกลับไปดูผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในอดีตที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง เช่น "จิระนันท์ พิตรปรีชา" เคยอัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 32 "แอฟ ทักษอร" ครั้งที่ 55 และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ครั้งที่ 62 หรือ "แต้ว ณฐพร" ดาราสาวชื่อดัง ก็เคย อัญเชิญพระเกี้ยว ในครั้งที่ 66 มาแล้ว

และก็แถมท้ายด้วยคนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วย

ให้มันจบที่รุ่น "เนติวิทย์" เถอะ ตรรกะวิบัติฝ่ายประชาธิปไตย แบบนี้



**จาก"รัสเซล โครว์" มาถึง "ลิซ่า" Soft Powerไทยใช้จริงจังขั้นสุดงานนี้ยังไงก็คุ้ม

“รัสเซล โครว์” ดาราฮอลลี่วู๊ดรุ่นใหญ่ เจ้าของรางวัลออสการ์แสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Gladiator ที่ถ่ายทอดความประทับใจเกี่ยวกับ "Soft Power” ความเป็นไทย ผ่านสื่อโซเชียลฯให้คนติดตามเขาทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยดียิ่งขึ้น ต้องบอกว่า ปลุกกระแสอะเมซิ่งไทยแลนด์ อาจจะส่งผลเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้านเรามากขึ้นหลังจากที่พิษโควิดทำระทมมากว่า 2 ปี

ลิซ่า แบล็กพิงก์
การที่ “รัสเซล โครว์” ใช้เวลาท่องไปในที่ต่างๆ ชื่นชมวัฒนธรรม ศิลปะ แหล่งท่องเที่ยว อาหารไทยและ อุปนิสัยใจคอของคนไทย แน่นอนว่า จะมีคนอยากจะมา "ตามรอย" เขาไม่มากก็น้อยอย่างไม่ต้องสงสัย

“รัสเซล โคร์ว” โปรโมตประเทศไทย นับว่าเป็นจังหวะพอดิบพอดีกับ รัฐบาลจะเปิดประเทศ อย่าว่าแต่ คนต่างชาติ คนไทยเองก็โหยหาการท่องเที่ยว เห็นได้จากปรากฏการณ์ "ไทยเที่ยวไทย" ช่วงวันหยุดยาว แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ คึกคัก ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ก็พอจะยิ้มได้บ้าง

ถ้ารัฐบาลรักษาบรรยากาศแบบนี้ไว้ได้ ควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิดดีๆ แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ก็น่าเห็นรำไร เพราะท่องเที่ยว ถือเป็นหัวใจสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โมงยามนี้ มีสรรพกำลังอะไรควรต้องใช้ให้เต็มที่ เห็นว่า ล่าสุด "พิพัฒน์ รัชกิจประการ" รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาเผยกับถึงความคืบหน้าอีเวนต์ "เคาท์ดาวน์ภูเก็ต" ว่า น้อง “ลิซ่า แบล็กพิงก์” หรือ “ลลิษา มโนบาล” ศิลปินสาวชาวไทยชื่อดังระดับโลกของค่าย YG Entertainment ยืนยัน ว่าจะมาร่วมงานเคาท์ดาวน์ 2022 ที่ จ.ภูเก็ต โดยสัปดาห์หน้าจะมีการเซ็นสัญญาร่วมงานอย่างเป็นทางการ

ว่ากันว่า เอเยนซี่ฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานดึงตัว “ลิซ่า แบล็กพิงค์” ได้คอนเฟิร์มว่า ศิลปินสาวจะมาแน่ ร่วมกับ “แอนเดรีย โบเซลลี” นักร้องโอเปร่า ชื่อดังของโลกชาวอิตาลี ค่าตัวรวมกันอยู่ที่ 100 ล้าน

แอนเดรีย โบเซลลี - รัสเซล โครว์
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าผลักดันงานเคาท์ดาวน์ ภูเก็ต 2022 ให้เป็นอีเวนท์ระดับโลก โปรโมตภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) หวังจะ สร้างกระแสความสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

“ลิซ่า แบล็กพิงก์” ใครๆ ก็ยกให้ว่าชั่วโมงนี้ฮอตมาก ก้าวขึ้นไปมีชื่อเสียงเป็นศิลปินเบอร์ต้นๆ ของโลก

ในฐานะที่เป็นคนไทย “ลิซ่า” ได้แสดงออกถึงความเป็นไทยให้ทั่วโลกเห็นมาแล้วจากเอ็มวีเพลงใหม่ล่าสุดที่มีเครื่องแต่งกาย และ ฉากสถานที่สำคัญของไทย ติดตาตรึงใจคนแค่ไหน คงไม่ต้องบรรยาย

“ลิซ่า” คือ Soft Power ของไทยที่เฉพาะหน้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ฝากความหวังไว้ได้

การเปิดให้ 46 ประเทศเดินทางเข้าประเทศ แต่จะมีเข้ามาสักกี่มากน้อยก็ต้องรอลุ้นกัน แน่นอนว่า อาจจะไม่ได้มากมายทะลักทลาย แต่อย่างน้อย ความพยายามผลักดันใช้ Soft Power ความเป็นไทย ผ่าน “ลิซ่า” จริงจังขั้นสุด เชื่อว่า จะคุ้มค่า คุ้มราคา มีผลสำหรับการโปรโมตท่องเที่ยว และดีต่อภาพลักษณ์ไทยได้อย่างแน่นอน.




กำลังโหลดความคิดเห็น