“นายกฯ” ย้ำ ศบค.ส่วนหน้าไม่ใช่ยึดอำนาจ ทุกอย่างยังดำเนินการเหมือนเดิม ชี้ตั้ง “พล.อ.ณัฐพล” ทำหน้าที่บูรณาการการทำงาน ไม่ก้าวก่ายการทำหน้าที่ของใคร
วันนี้ (20 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.14 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 10 ประจำปี 2564 ก่อนเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สิงห์บุรี โดยมี พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาสภากลาโหม และพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ไม่ได้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมด้วยเนื่องจากติดภารกิจลงพื้นที่จ.กาญจนบุรี
จากนั้นเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงการตั้ง ศบค.ส่วนหน้าว่า ตนได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถึงการบริหารจัดการภาคใต้ เพื่อลดการสูญเสีย รวมถึงการเยียวยา ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะประเทศไทยมีปัญหาหลายด้านตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ตนเป็น ผบ.ทบ. และรอง ผอ.รมน.สนับสนุนเรื่องเหล่านี้มาตลอด เพราะเป็นกลไกของทุกรัฐบาล หน่วยงานเหล่านี้จะต้องไปเสริมการปฏิบัติงานของกระทรวงอื่นๆด้วย เช่น ทหารที่ทำหน้าที่ป้องกันการลักลอบตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ด้วยการประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงฝากความเห็นใจ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหารตามแนวชายแดนด้วย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนการตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ยืนยันว่าไม่ใช่การยึดอำนาจ ทุกอย่างยังดำเนินการเหมือนเดิม โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกฯ และ ผอ.ศบค.ส่วนหน้าลงไปทำหน้าที่เพียงแค่บูรณาการการทำงาน เพราะเรามีกฎหมายในการทำงานอยู่แล้ว ความจริงไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของใคร เพียงแต่เข้าไปดูแลให้เกิดความทั่วถึงในเรื่องการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นั้น ต้องย้ำว่ายังมีอีกหลายประเทศที่เราจะประกาศออกไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ดำเนินการ การที่จะเข้ามาไทยไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะเข้ามาได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกันระหว่างประเทศต้นทางและปลายทางว่ามาตรการที่เรากำหนดไปเขาตกลงด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ตกลงด้วยเขาก็ไม่เข้ามาอยู่แล้ว ครั้งแรกอาจจะให้เข้ามาได้ไม่กี่ประเทศ หรืออาจจะหลายประเทศ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับมาตรการของเรา ส่วนปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมสภากลาโหม เพราะมีความขัดแย้งหลายพื้นที่ใกล้กับประเทศเรา