เมืองไทย 360 องศา
ด้วยสถานการณ์ที่เป็นตัวกำหนด อีกทั้งความพร้อมทางการเมืองในเวลานี้ และต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยสองสามเดือนข้างหน้า ทำให้เชื่อมั่นจนสามารถ “ฟันธง” ได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะไม่มีทางยุบสภาในเร็วๆ นี้ หรือภายในปีนี้อย่างแน่นอน
ที่ผ่านมา เขาก็ได้ยืนยันมาหลายครั้งแล้วว่า จะไม่ยุบสภา และจะอยู่จนครบวาระ นั่นคือ จนถึงปี 2566 ซึ่งจะมาว่ากันทีละช็อตๆ ว่ามันจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้แค่ไหน ซึ่งในประเด็นหลังคืออยู่ครบวาระถึงปี 66 ค่อยมาพิจารณาในรายละเอียดภายหลังอีกที
สำหรับประเด็นแรก คือ การยุบสภา ในเร็วๆนี้ เมื่อพิจารณาจากรอบด้านแล้ว ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการยุบสภาย่อมหมายถึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งนาทีนี้ยังมั่นใจว่า ยังไม่มีใครที่อยากเลือกตั้งในสถานการณ์แบบนี้แน่ อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากความขัดแย้ง ไม่ว่ากับพรรคร่วมรัฐบาลที่ดูในภาพรวมๆ แล้วยังถือว่าราบรื่นดี ตรงกันข้ามกลับเห็นว่าในระยะหลังความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ยิ่งมีความใกล้ชิดมากกว่าเดิม สังเกตได้จากการ “กระชับ” ความสัมพันธ์แนบแน่นกว่าเดิมเสียอีก
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปลี่ยนแปลงคำสั่งคืน 4 กรม ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปอยู่ในการกำกับดูแลของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดิมแล้ว ขณะที่การสั่งการอื่นที่เคยเป็นลักษณะ “รวบอำนาจ” แบบซิงเกิลคอมมานด์ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด ก็มีการคืนอำนาจกลับไปที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงดังเดิมหมดแล้ว โดยเฉพาะหากโฟกัสไปที่กระทรวงสาธารณสุข ก็จะได้เห็นบทบาทการกำกับดูแลของ นายอนุทิน ชาญิวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มากขึ้นเช่นกัน
นั่นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหลักๆ ขณะที่ปัญหาในพรรคพลังประชารัฐเอง แม้ว่าจะสังเกตเห็นถึงความ “คุกรุ่น” แต่ก็ไม่ใช่ถึงขั้นต้องแตกหัก เพราะนั่นเท่ากับว่า “ทุบหม้อข้าว” ตัวเอง คงไม่มีใครอยากทำ หรือหากมีใครเสียสติ คิดจะทำก็คงต้องมีพวกเดียวกันเองนั่นแหละที่ต้องโดดออกมาขวางแน่นอน
คำถามแล้วความสัมพันธ์ระหว่าง “สอง ป.” ล่ะ นาทีนี้ก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับว่า ป.ประวิตร จะเลือกเดินแบบไหน จะ “เลือกใหญ่ไปกับ ป.ประยุทธ์” หรือจะโชว์เดี่ยวตามแรงยุของบางคน ซึ่งถ้าเลือกอย่างหลัง รับรองว่า ป.ประวิตร จบเห่ทันที ซึ่งระดับ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยอมรู้แก่ใจดี ถึงได้ย้ำว่าต้อง “หนุนประยุทธ์” ต่อไป
โดยเฉพาะย้ำล่วงหน้าว่าพรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่เน้นย้ำว่าจะเสนอชื่อเดียวก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นแท็กติกที่ไม่มัดตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี เรื่องแคนดิเดตนายกฯ ยังอีกยาวไกลยังไม่ต้องคาดคั้นก็ได้
ดังนั้น หากพิจารณาถึงสาเหตุการยุบสภามันก็มีอยู่สองสาเหตุหลัก นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่กับพรรคพลังประชารัฐด้วยกันเองก็ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรง และทุกคนก็ไม่อยากเลือกตั้งในเวลานี้
ตรงกันข้ามอย่างที่รับรู้กัน กลายเป็นความสัมพันธ์ที่กระชับขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ล่าสุด วันที่ 13 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ยังมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเวลา 20 นาที
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไรกับพรรคร่วมเป็นพิเศษ แต่เป็นการพูดคุยตามปกติทุกครั้งที่เจอกัน ส่วนเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ได้มีการพูดกันอยู่แล้วในครม.ซึ่งทุกคนต้องลงไปช่วย ไม่ใช่ภารกิจของคนใดคนหนึ่ง ยืนยันไม่มีการแจ้งเรื่องปรับ ครม. และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องมีการเคลียร์ใจอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีปัญหาอะไร
ขณะที่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นการพูดคุยตามปกติ ไม่มีสั่งการในเรื่องใดๆ เป็นพิเศษ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากประเด็นนี้ถือว่าจบไป ไม่ต้องคิดว่าจะยุบสภาภายในปีนี้ ขณะเดียวกัน สำหรับปีหน้า หรือปี 2565 นั้นเป็นปีที่จะต้องมีเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก ที่มีสมาชิก 21 ประเทศ และมีประเทศมหาอำนาจรวมอยู่ในนั้นแทบจะครบครัน เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ถือว่าเป็นงานใหญ่ระดับโลกที่ไทยเวียนมาเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากครั้งแรกเป็นเจ้าภาพในปี 2546 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งนี่คือ งานช้างระดับโลกที่น้อยครั้งที่ไทยจะได้ประกาศศักดา และที่สำคัญนี่คือโอกาสเดียวที่หาได้ยากสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีโอกาสได้กระทบไหล่ผู้นำระดับโลกพร้อมกัน และนอกเหนือกว่านั้น เมื่อบังเอิญการประชุมครั้งแรกเป็นยุค นายทักษิณ ชินวัตร คราวนี้ก็ต้องเป็นยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เรียกว่า “บังเอิญอย่างร้ายกาจ” และหากย้อนกลับไปดูข่าวเก่าๆ จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้มีการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก มาตั้งแต่ปี 2561 เลยทีเดียว และงานนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านความมั่นคงและความปลอดภัยการประชุมอีกด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เฉพาะเรื่องเจ้าภาพการประชุมเอเปกเรื่องเดียวก็ต้องดำเนินการให้สำเร็จให้จงได้ และนี่คือคำตอบว่าจะต้องลากยาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จนถึงปี 2565 แน่นอน แต่หลังจากนั้น ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ก็ต้องมาลุ้นกันอีกว่าจะ “ได้ไปต่อ” หรือไม่ กับการต้องตีความวาระนายกฯ ที่ “กองเชียร์ กองแช่ง” มีความเห็นแตกแยก ซึ่งคงต้องเริ่มพิจารณาอย่างจริงจังในช่วงเดือนสิงหาคม ที่อาจต้องส่งตีความเพื่อความชัดเจน
ดังนั้น หากสรุปกันแบบห้วนๆ ก็ต้องบอกว่าหากยุบสภา ก็ต้องเกิดขึ้นหลังปี 2565 เป็นต้นไป เพราะในช่วงเวลาอันใกล้นี้ มองมุมไหนก็ยังมองไม่เห็น และเฉพาะหน้าอีกเรื่องสำคัญ ก็คือ ยังต้องมีการแก้ไขกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแก้รัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่พรรคใหญ่ทุกพรรคต้องการ มันก็ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีก !!