xs
xsm
sm
md
lg

“โภคิน” ยกบทเรียน 6 ตุลาฯ แนะ “ผู้มีอำนาจ” เปลี่ยนทัศนคติ สร้าง “รัฐประชาชน” เพื่อความเท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โภคิน พลกุล
“โภคิน” ถอดบทเรียน 6 ตุลาฯ สะท้อนพลวัตการเมืองไทย แนะ “ผู้มีอำนาจ” เปลี่ยนทัศนคติ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงโลก เลิกอำนาจนิยม-รัฐราชการ หนุน “รัฐประชาชน” สร้างความเท่าเทียมกัน ดึงประชาชนเป็นหุ้นส่วน

วันนี้ (6 ต.ค. 64) นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวในโอกาสครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา-ประชาชนวันที่ 6 ต.ค. 2519 ว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สะท้อนความเป็นพลวัตทางการเมืองที่ประกอบด้วย ฝ่ายศักดินานิยม ฝ่ายอำนาจราชการนิยม และฝ่ายประชาธิปไตย ที่เชื่อมร้อยสายธารประวัติศาสตร์มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 และพลวัตดังกล่าว ยังส่งต่อสายธารความขัดแย้งมาจนถึงการรัฐประหาร 2549 ที่ได้มีการแบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย เป็นเสื้อแดง-เสื้อเหลือง

ทั้งนี้ ชนวนเหตุเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ที่หวาดกลัวต่ออิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง และเกรงว่าไทยจะได้รับอิทธิพลดังกล่าวตามทฤษฎีโดมิโน

แต่หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของชนวนเหตุดังกล่าว ตนเห็นว่า ไทยไม่มีทางที่จะรับอิทธิพลการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ได้ เนื่องจากผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต เกิดการทะเลาะกัน ซึ่งจีนได้จับมือกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรของไทย จนนำมาสู่การสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 2518 และจีนก็ได้สนับสนุนกองกำลังเขมรแดง เป็นฐานกันชนชายแดนในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าสู่ไทย ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะเกิดทฤษฎีโดมิโน่ขึ้นในไทยได้

เนื่องในวาระครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ประเทศไทยเกิดความสูญเสียมามากพอแล้ว ซึ่งความขัดแย้งทางการเมือง ผู้มีอำนาจต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน เพราะการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนสามารถกระทำได้ และแม้หากมีความรุนแรงจากผู้ชุมนุม ก็ควรบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่ไม่ควรเหมารวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม

“ผู้มีอำนาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ (mindset) เพื่อให้เกิดการพัฒนา และก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งในโลกสมัยใหม่ จะให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยต้องปรับทัศนคติแบบอำนาจนิยม ที่ลดทอนคุณค่าความเป็นคนให้มีความเป็นภราดรภาพ หรือความเป็นพี่น้องกัน มีความเท่าเทียมกัน และต้องทำให้รัฐราชการ เป็นรัฐประชาชน เปลี่ยนทัศนคติรัฐราชการอำนาจนิยม ให้ข้าราชการเป็นหุ้นส่วนกับประชาชน ในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” นายโภคิน ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น