โฆษก ภท.ฐานะ ส.ส.ในพื้นที่ เร่งลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องชาวอ่างทองผู้ประสบภัยน้ำท่วม ย้ำ! ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 9 ต.ค. “อนุทิน” เตรียมลงพื้นที่ด้วย
วันนี้ (5 ต.ค.) นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ โดยไล่ตามลำดับของปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อำเภอป่าโมก อำเภอเมือง อำเภอวิเศษชัยชาญ และ อำเภอไชโย แม้ว่าปริมาณน้ำจะน้อยกว่าปี 2554 ก็ตาม แต่ระดับความสูงของน้ำอาจจะสูงกว่าปี 2554 เนื่องจากปี 54 พบว่า ปริมาณน้ำได้ไหลผ่านไปทางจังหวัดลพบุรี เพราะบางโฉมศรีแตก ทำให้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาระดับความสูง ไม่สูงเท่าขณะนี้ และที่สำคัญปีนี้น้ำมาเร็ว จึงทำให้เวลาการเตรียมตัวรับมือของหน่วยงานต่างๆ จึงมีไม่มาก
ส.ส.ภราดร กล่าวอีกว่า สำหรับที่คาดการณ์กันไว้ว่าถ้ามีพายุเข้ามาอีก นั่นคือ เป็นเรื่องของเวลา ว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่ ซึ่งตอนนี้น้ำที่ท่วมอยู่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิษณุโลก ก็จะไหลลงสู่ภาคกลางทันที ซึ่งการระบายน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดว่าจะระบายได้เร็ว มากน้อยเพียงใด ถ้าระบายน้ำหมด หรือระบายได้เร็ว และมีพื้นที่รับน้ำเพียงพอ ในช่วงฝนตก หรือพายุลูกใหม่เข้ามา ก็อาจจะไม่เสียหายมากนัก แต่ถ้าน้ำยังไม่ได้มีการระบายอย่างเพียงพอ ก็อาจจะทำให้พื้นที่เสียหายมาก
“สำหรับการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบในครั้งนี้ ทางตนเอง และ ส.ส.กรวีร์ ปริศนานันทกุล ได้ลงพื้นที่มอบสิ่งของอุปโภค-บริโภค อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งประเทศไทย ได้นำข้าวสารมามอบให้ และได้มีการร่วมกับ อบจ.อ่างทอง ที่ได้มีการจัดสรรซื้ออาหารแห้งต่างๆ มารวมกับข้าวสารที่ได้รับบริจาคมา และไปมอบให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อน
สัปดาห์ที่ผ่านมา รมว.ดีอีเอส ก็ได้เข้ามาติดตามงาน และมอบถุงยังชีพให้ประชาชน
และในวันที่ 9 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ ทางท่านรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล จะมีการลงพื้นที่มาช่วยเหลือ อีกทั้งจะมีการหารือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป” นายภราดร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ระบายในทุ่ง พืชสวน และพืชไร่ มีผลกระทบพอสมควร ก็จะต้องเร่งดำเนินการในการช่วยเหลือ มั่นใจว่า ทางรัฐบาลจะมีการชดเชย และเยียวยาในความเสียหายแก่เกษตรกรอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ในส่วนของการบริการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโรค และเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็อาจจะมีการเดินทางไปโรงพยาบาลอย่างยากลำบากมากขึ้น รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากสภาพการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย แต่อย่างไรก็ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ทำงานกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แม้ว่าจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการดำรงตำแหน่งก็ตาม และที่สำคัญ ในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน