xs
xsm
sm
md
lg

“วิระชัย” เฮ! ศาล ปค.กลาง เพิกถอนคำสั่งสำรองราชการ ปมคลิป “บิ๊กแป๊ะ” ชี้ผู้สั่งมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา (แฟ้มภาพ)
ศาล ปค.กลาง พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง สำรองราชการ “วิระชัย ทรงเมตตา” ปมคลิปเสียง “บิ๊กแป๊ะ” ชี้ไม่ชอบด้วย กม.เหตุพฤติการณ์ผู้ออกคำสั่งมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ มีสภาพร้ายแรง ส่งผลการพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง พร้อมให้คืนสิทธิประโยชน์

วันนี้ (30 ก.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค. 63 ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สำรองราชการ และประกาศของนายกรัฐมนตรีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ให้ พลตํารวจเอก วีระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 63 และมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจในคราวการประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 63 ที่ยกคำร้องอุทธรณ์ของพลตำรวจเอก วีระชัย โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่คำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและประกาศของนายกรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว พล.ต.อ.วิระชัย ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการสำรองราชการตนเองทั้งหมดจากเหตุถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปล่อยคลิปเสียง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น สนทนาทางโทรศัพท์สั่งการคดีคนร้ายลอบยิงรถยนต์ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในขณะนั้น

ส่วนเหตุที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำรองราชการดังกล่าว ระบุว่า แม้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบัญชาการตำรวจแห่งชาติจะชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการหรือพักราชการได้ก็ตามแต่ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะออกคำสั่งดังกล่าวจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป คดีนี้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เนื่องจากเห็นว่า พล.ต.อ.วิระชัย ลักลอบบันทึกเสียงการสนทนาและส่งบันทึกเสียงการสนทนาให้บุคคลอื่นกรณีจึงเห็นได้ว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรง แม้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะมีอำนาจในการออกคำสั่งและตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง แต่ขั้นตอนการสำรองราชการเป็นคนละขั้นตอนกับการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีวัตถุประสงค์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า มีมูลที่ควรกล่าวหาว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทำผิดวินัยและอาญาหรือไม่ ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีจุดประสงค์เพื่อพิสูจน์ว่า พล.ต.อ.วิระชัย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาจากการสั่งการของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและต่อมาผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำผลจากการสอบข้อเท็จจริงมาใช้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงและยังดำเนินคดีอาญากับ พล.ต.อ.วิระชัย ด้วยผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ย่อมมีอคติต่อ พล.ต.อ.วิระชัย ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง อีกทั้งผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบอยู่แล้วว่าในปีงบประมาณ 2563 ตนเองจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 63 ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้สรรหาข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งแทนผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.วิระชัย ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นย่อมอยู่ในบัญชีที่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกแต่เมื่อผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้สำรองราชการแล้วและยังเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งซึ่งมีผลทำให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่สามารถเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิระชัย เพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ เพราะเป็นผู้ถูกสำรองราชการอยู่

นอกจากนี้ ก่อนที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะมีคำสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือมีพยานบุคคลใดร้องว่า พล.ต.อ.วิระชัย ไปยุ่งกับพยานหรือเป็นอุปสรรคในการสอบสวนหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหากให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งแล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือสํานักงานตํารวจแห่งชาติ หรือบุคคลใดที่ถูกระบุไว้ในคำสั่งผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมมีอำนาจในการดำเนินการกับ พล.ต.อ.วิระชัย ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายได้

“ดังนั้น การที่ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในคำสั่งที่ว่าเพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัยและอาญาหากแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในคำสั่งให้สำรองราชการ”

อีกทั้งการออกคำสั่งสำรองราชการดังกล่าวไม่ใช่กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไข จึงเห็นว่าพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงแม้จะไม่ใช่ความไม่เป็นกลางโดยสภาพภายนอกตามมาตรา 13(1) พ.ร.บวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ก็ตาม

“แต่พฤติการณ์ของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าว ย่อมมีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อ พล.ต.อ.วิระชัย จึงถือว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีสภาพร้ายแรงอันทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางโดยสภาพภายในตามมาตรา 16 ของกฎหมายเดียวกัน คำสั่งสำรองราชการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 ก.ค. 63 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลทำให้คำสั่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่าให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ พล.ต.อ.วิระชัย ตามกฎหมายและระเบียบกำหนดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น