xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.สั่งผู้ว่าฯ นครปฐมระงับ-ชดใช้เงินให้ชาวบ้านปมปล่อยให้มีการเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษา กรณีที่สมาคมฯ และชาวบ้านใน ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม จำนวน 85 คน ได้ร่วมกันฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมกับพวก รวม 9 คน ฐานละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้ผู้ประกอบการนำน้ำเค็มมาเลี้ยงกุ้ง ในบริเวณใกล้ชุมชน หมู่บ้าน ใกล้พื้นที่ทำสวนผัก สวนผลไม้ และนาข้าว ทำให้ดินเค็มแพร่กระจายเดือดร้อนกันไปทั่วพื้นที่ แม้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะได้เคยมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งห้ามการเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มแล้ว แต่ทว่าผู้ว่าฯนครปฐมกลับไม่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านมาร้องขอให้สมาคมฯช่วยยื่นฟ้องศาลให้ตั้งแต่ ก.ค.2560 แล้วนั้น

คดีนี้ชาวบ้านต่อสู้คดีและทนทุกข์ทรมานกับพืชผลที่เสียหายมาอย่างยาวนานกว่า 5 ปี กระทั่งในที่สุดศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ผู้ว่าฯนครปฐมใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ในการออกคำสั่ง เพื่อควบคุมหรือระงับการใช้น้ำเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตพื้นที่น้ำจืดจังหวัดนครปฐม และให้จังหวัดนครปฐมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีรายต่างๆ ตั้งแต่ 2,000 -30,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 248,590 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

คำพิพากษาดังกล่าว ชี้ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยชัดแจ้ง ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะได้เคยมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาการนำน้ำเค็มมาเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำจืด โดยให้ออกคำสั่งห้ามการเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มเสีย แต่ผู้ว่าฯ มักไม่ใช้อำนาจ แต่กลับไปตั้งคณะกรรมการฯมาพิจารณาศึกษากัน และในที่สุดก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับชาวบ้านได้

กรณีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านในพื้นที่ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม คงจะไม่หยุดยั้งแต่เพียงแค่นี้ จำเป็นที่จะต้องนำคำพิพากษาไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการไต่สวนเอาผิดผู้ว่าฯ นครปฐมทุกคนที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เกิดเหตุมาจนถึงปัจจุบันต่อไป เพราะไม่ต้องการให้กรณีเช่นนี้เป็นเยี่ยงอย่างของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมักจะใช้เทคนิคการยื้อเวลากันมากในหลายกรณี เช่น การตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมาศึกษา มาพิจารณา เพื่อซื้อเวลาไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนและเสียหายของชาวบ้านที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ที่ต้องการให้มีการแก้ไขเร่งด่วน ดังกรณีการปล่อยให้นายทุนนำน้ำเค็มมาเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำจืด เป็นต้น