xs
xsm
sm
md
lg

“อรรถวิชช์” เช็กสภาพเขื่อนเจ้าพระยา หารือ SWOC12 ยังไม่วิกฤต เอาอยู่หรือไม่ อยู่ที่บริหารจัดการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ พรรคกล้า เช็กสภาพ “เขื่อนเจ้าพระยา” ปราการด่านหน้าก่อนน้ำเข้าเมืองกรุง หารือ SWOC12 ระดับยังไม่วิกฤต ชี้จะเอาอยู่หรือไม่ อยู่ที่บริหารจัดการ เชื่อรับมือได้ก่อนน้ำทะเลหนุนสูง-พายุเข้าซ้ำ แนะ ผู้ว่าฯ กทม. เตรียมความพร้อมช่วยผันน้ำ

วันนี้ (30 ก.ย.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า นำทีมกล้าอาสาเก็บข้อมูลจากสำนักชลประทานที่ 12 (SWOC12) เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยกล่าวว่า วันนี้ถือว่ามาเช็กต้นขั้วให้เห็นกับตา เพราะเขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนชะลอรับน้ำเหนือด่านสุดท้าย ก่อนปล่อยลงสู่ภาคกลางตอนล่าง และกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจัยหลักที่น้ำจะท่วมภาคกลางตอนล่างและกรุงเทพมหานคร คือ 1) ปริมาณน้ำฝน มีการคาดการณ์ว่า พายุดีเปรสชัน จะเริ่มก่อตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์ วันที่ 3 ตุลาคมนี้ และยังคาดไม่ได้แน่ชัดว่าจะขึ้นมาที่ไทยช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคม นี้หรือไม่ 2) ปัจจัยน้ำทะเลหนุน ซึ่งจะเริ่มหนุนสูงตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน ช่วงเทศกาลลอยกระทง ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ 3 คือ การบริการจัดการน้ำเหนือในช่วง 7-10 วัน ต่อจากนี้

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา วันนี้ อยู่ที่ 2,775 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังอยู่ในระดับธงเหลือง ยังไม่เข้าขั้นวิกฤตระดับธงแดง ซึ่งต้องอยู่ที่ 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับ นายเนรมิต เทพนอก รองผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 (SWOC12) ก็ย้ำกับพรรคกล้า ผ่านไปถึงประชาชน ว่า จะเร่งผันน้ำให้ประชาชนเดือดร้อนให้น้อยที่สุดและเร็วที่สุด ให้ทันก่อนที่พายุจะเข้าหรือน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งปริมาณน้ำฝนขณะนี้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ มั่นใจว่าสถานการณ์น่าจะเอาอยู่

เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวว่า สรุปว่าต้นขั้วบริหารได้ แต่ยังมีปัญหาการแจ้งเตือนภัยกับประชาชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพราะจากที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท พบว่า ทางมหาดไทยยังล่าช้าอยู่ ซึ่งกรมชลประทานมีข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ว่า จำนวนกี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำพื้นที่ใดเสี่ยงที่จะน้ำท่วมบ้าง หากมีการบูรณาการร่วมกันน่าจะทำให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วน กทม.ทางผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องรับมือน้ำฝนอย่างเต็มที่ ควรเร่งเตรียมพื้นที่รับน้ำ คลอง บึงรับน้ำ การระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไปออกทะเลที่ปากน้ำโดยด่วน ก่อนน้ำทะเลหนุนอุดปากทางช่วง 15 ตุลาคมนี้ ดังนั้น สัปดาห์นี้ การบริหารจัดการน้ำสำคัญที่สุด ของจริงคือเดือนตุลาคม










กำลังโหลดความคิดเห็น