“ประวิตร” ติดตามสถานการณ์น้ำ ผลจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ก่อนลงพื้นที่โคราช กำชับกรมชลฯ เร่งระบายน้ำ ลดกระทบ ปชช.โดยเร็ว สั่งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับพายุระลอกใหม่
วันนี้ (29 ก.ย.) พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 14.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม./ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อตรวจ ติดตาม สถานการณ์น้ำ ณ “ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ” กรมชลประทาน (สามเสน) และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วทุกภาค ผ่านระบบ vdo conference ในการแก้ปัญหาน้ำ อันเนื่องมาจากอิทธิพลพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ในหลายพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในพื้นที่หลายจังหวัด
พล.อ.ประวิตร ได้รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยา และติดตามพายุ “เตี้ยนหมู่” ที่มีผลกระทบในปัจจุบัน และแนวโน้มที่อาจเกิดพายุระลอกใหม่ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า และรับทราบสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แบบเวลาจริง (Real Time) ในพื้นที่ จ.สุโขทัย และ จ.นครราชสีมา รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้มีความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งได้กำชับ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนโดยเร็ว นอกจากนั้น กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ยังได้รายงานสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ รวมทั้งได้รับทราบการเตรียมความพร้อมของ กทม.ในการรับมือ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล กรณี มีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย
พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวมอบนโยบายให้ สทนช. ประสานหน่วยงานเร่งบูรณาการ การคาดการณ์ กับกรมอุตุฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ในการบริหารจัดการน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน/เกษตรกร ให้กระทบน้อยที่สุด พร้อมสั่งเตรียมแผนเผชิญเหตุ ทุกพื้นที่เสี่ยง กำชับ กรมชลประทาน และ กฟผ.ให้ควบคุมการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อลดการซ้ำเติมพื้นที่เกิดอุทกภัย และควบคุมการผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำแก้มลิง เพื่อหน่วงน้ำ พร้อมสั่งการ ผวจ.ที่ได้รับผลกระทบให้ปฏิบัติตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และต้องมีการประชาสัมพันธ์ การแจ้งเตือนล่วงหน้าให้พี่น้องประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ ด้วย