ศบค.เห็นชอบเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยว ระยะนำร่อง ช่วง 1-31 ต.ค. ประกอบด้วย ภูเก็ต และบางอำเภอของสุราษฎร์ธานี พังงา และกระบี่ ต่อด้วยระยะที่ 1 ใน 10 จังหวัดรวม กทม.ช่วง 1-30 พ.ย. หลังจากนั้น เป็นระยะที่ 2 อีก 20 จังหวัดช่วง 1-31 ธ.ค. และระยะที่ 3 เปิดพื้นที่ชายแดน 13 จังหวัด 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป
วันนี้ (27 ก.ย.) เวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ศบค.เห็นชอบมาตรการ สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวโดย รมว.มหาดไทย รายงานในที่ประชุม ศบค.ว่า ในบางจังหวัดและบางอำเภอไม่ได้มีการติดเชื้อโควิด แต่เราประกาศเป็นพื้นที่ติดเชื้อ เพื่อให้ครอบคลุมในการบริหารจัดการการระบาดของโรค ซึ่งจำแนกตามรายอำเภอ สัปดาห์ที่ 37 วันที่ 12-18 ก.ย. เป็นพื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่ ซึ่งภาพการควบคุมโรคกับภาพความเป็นจริงไม่ได้ตรงกัน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประชุมหารือกันหลายครั้ง จึงเสนอพื้นที่นำร่องเพื่อการท่องเที่ยวและรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้า (Blue Zone)
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ศบค.เห็นชอบจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในแต่ละระยะ (สีฟ้า) ระยะนำร่องวันที่ 1-31 ต.ค. 2564 เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประกอบด้วย 4 จังหวัด และพื้นที่เกาะดำเนินการในพื้นที่นำร่องเดิมที่ดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค.- ส.ค. 2564 ที่มีจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร้เลย์ คลองม่วง ทับแขก)
ต่อด้วย ระยะที่ 1 วันที่ 1-30 พ.ย. 2564 เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้ จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) และ บุรีรัมย์ (อำเภอเมือง)
ระยะที่ 2 วันที่ 1-31 ธ.ค. 2564 เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยมีสินค้าการท่องเที่ยว ด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 20 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส
และระยะที่ 3 วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจจังหวัด ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 13 จังหวัด ประกอบด้วย สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการการป้องกันควบคุม โควิด-19 สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) เพื่อให้มีแรงจูงใจสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการกำหนดมาตรการป้องกันการควบคุมโรคสามารถปรับมาตรการให้เป็นไปตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรตามพื้นที่เฝ้าระวังได้ แต่ยังคงปิดสถานบริการและสถานบันเทิง รวมถึงสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกัน และจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน