วันนี้(27 ก.ย.) นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า เขตสวนหลวง-ประเวศ กล่าวว่า อิทธิพลจากพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักและอุทกภัยหลายพื้นที่ ทั้งในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายแห่งสถานการณ์ยังค่อนข้างน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ และนครราชสีมา ล่าสุด มีรายงานว่า ปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นจึงได้มีการแจ้งเตือนไปยังจังหวัดนนทบุรีให้เตรียมรับมือ โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและร้านค้าต่างๆต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“สังเกตได้ว่า ระบบแจ้งเตือนของเรายังมีลักษณะเป็นการส่งต่อคำสั่งทางราชการเป็นหลัก แม้จะมีเนื้อหาสั่งการถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเฝ้าระวังก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนจะไม่สามารถทราบถึงระดับความวิกฤตและแนวปฏิบัติได้เลย น่าแปลกใจที่เราประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปีแต่กลับไม่มีระบบแจ้งเตือนสำหรับประชาชนที่เร็วพต่อสถานการณ์ ต้องรอติดตามจากสื่อมวลชนที่นำรายละเอียดเอกสารคำสั่งราชการมานำเสนออีกที จากนั้นก็ต้องมาคอยประเมินสถานการณ์เอาเองว่าจะต้องทำอย่างไร แค่ยกของขึ้นที่สูงหรือถึงเวลาต้องเตรียมอพยพ ศูนย์อพยพอยู่ตรงไหน ข้าวของทรัพย์สินจะมีผู้ดูแลหรือไม่ หรือหากมีผู้ป่วยติดเตียงและคนชราที่บ้านจะขอความช่วยเหลือจากใคร มีเวลาในการเตรียมการกี่ชั่วโมง กี่นาที ทุกวันนี้เรามี SMS ชวนเล่นพนันเต็มไปหมด แต่ข้อความแจ้งระดับความวิกฤตและแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนในแต่ละพื้นที่ตามสถานการณ์จริงกลับไม่เกิดขึ้นเลยทั้งที่ควรจะทำได้ดีกว่านี้ด้วยงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์ภัยพิบัติที่มี”นายอริย์ธัช กล่าว
นายอริย์ธัช กล่าวต่อไปว่า ไม่อยากให้กรณีแบบน้ำตลบหลังเข้าท่วมบางบัวทองเหมือนในเหตุมหาอุทกภัยปี 54 เกิดขึ้นอีก ซึ่งตอนนั้นอยู่ดีๆมวลน้ำมหาศาลก็หลากเข้าท่วมในตอนกลางคืน มีผู้ได้รับผลกระทบนับหมื่นครัวเรือนโดยไม่มีการแจ้งเตือนภัยเร่งด่วนใดๆล่วงหน้า แม้ว่าเขาจะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตามที่รัฐแนะนำอยู่แล้วก็ตาม ดังนั้น การมีหนังสือแจ้งเพียงให้เฝ้าระวังหรือสั่งการหน่วยราชการในพื้นที่ตามลำดับจึงคิดว่าไม่เพียงพอ ยิ่งเป็นสถานการณ์ใหญ่ควรมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่ชัดเจน บูรณาการณ์ทุกหน่วยได้ และต้องสามารถแจ้งเตือนและเข้าช่วยเหลือประชาชนในการอพยพได้ทันทีหากจำเป็น
“สิ่งที่ผมสงสัยคือ ในสมัย คสช. มีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช .ขึ้น เพื่อเป็นเสมือนเสนาธิการด้านน้ำของรัฐ มีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆเข้ามา แต่ปัญหาน้ำท่วมก็ยังเกิดซ้ำซาก ทั้งที่งบประมาณด้านการบริหารจัดการน้ำที่ลงไปหน่วยงานต่างๆแต่ละปีนับแสนล้านก็ถือว่าไม่ได้น้อย แต่กลับไม่สามารถบรรเทาเหตุอุทกภัยให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนลงได้กว่าในอดีตได้เลย เรามีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเรามีกระทรวงด้านดิจิทัลโดยตรง แต่การพัฒนาระบบแจ้งเตือนหรือแผนรับมือภัยพิบัติก็ยังคงไม่เห็น ผมเชื่อว่าด้วยศักยภาพที่เรามีในตอนนี้ยังทำทัน อาจเป็นรัฐเองที่ต้องเร่งดำเนินการหรือจะดึงเอกชนที่เก่งๆมาช่วยก็ได้ หากจะทำระบบแจ้งเตือนให้ดีกว่านี้ไม่ว่าจะรูปแบบแอปพลิเคชั่นหรือ SMS เชื่อว่าสามารถทำได้ทันที แต่อยู่ที่ว่าจะใส่ใจทำหรือไม่เท่านั้น” นายอริย์ธัช ระบุ