เมืองไทย 360 องศา
มองในมุมบวกก็ต้องถือว่า กรณี “ผู้กำกับโจ้” หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่ปรากฏหลักฐานกระทำการรีดไถผู้ต้องหา จนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็น “แรงกระตุ้น” และ “แรงกระเพื่อม” อย่างดีสำหรับทำให้เกิดพลังกดดันให้เกิดการ “ปฏิรูปตำรวจ” ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากถูก “ยื้อ” ถูกขัดขวางมาโดยตลอด ซึ่งคนที่ยื้อ ดึงรั้ง หรือเปลียนแปลงแนวทางการปฏิรูปดังกล่าว ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่หลายคนชี้ไปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ก่อนว่ากันถึงเรื่องปฏิรูปตำรวจ ก็ต้องรายงานความคืบหน้าของคดี “โจรในเครื่องแบบตำรวจ” ที่อื้อฉาวที่ว่าเสียก่อน ล่าสุด มีรายงานว่า ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ตามหมายจับศาลจังหวัดนครสวรรค์ ที่ จ187/2564 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
นอกจากนี้ ยังได้ออกหมายจับ พ.ต.ต.รวีโรจน์ ดิษทอง ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว ด.ต.ศุภกร นิ่มชื่น และ ส.ต.ต.ปวีณ์กร คำมาเร็ว
โดย พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ที่เป็นหนึ่งในนายตำรวจได้รับมอบหมายลงพื้นที่ไปสอบสวนคดี เปิดเผยว่า มีการจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วจำนวน 4 นาย เนื่องจากมีบ้านพักอยู่ใน สภ.อ.เมืองนครสววรค์ อีก 3 นาย ยังหลบหนี คือ 1. พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ 2. ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา รอง สว.(ป.) สภ.เมืองนครสวรรค์ 3. ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว ผบ.หมู่ (ป.) สภ.เมืองนครสวรรค์
สำหรับคดีนี้ถือว่าเป็นเรื่อง “สะเทือนขวัญ” และอื้อฉาวสำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับรู้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นเรื่องที่ “น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน” ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในทางลบป่นปี้ สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้วงการข้าราชการตำรวจทั้งหมดต้องมัวหมองจนแทบกู่ไม่กลับกันเลยทีเดียว เพราะพฤติกรรม “รีดไถ” ทรมานผู้ต้องหา
แม้ว่าผู้ต้องหารายนี้เป็นสามีภรรยา ต้องคดีค้ายาเสพติด (ยาบ้า) หรือ “พ่อค้ายาเสพติด” แต่ตำรวจก็ไม่มีสิทธิ์ไปรีดไถเรียกเงินกับผู้ต้องหา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรายใดทั้งสิ้น
หลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นมา เสียงวิจารณ์ในทางลบอย่างรุนแรง ที่มีทั้งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยรวม ผู้บัญชาการระดับสูงสุดขององค์กร อย่างผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันก็คือ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข หลังจากถูกมองว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเชื่องช้า ทั้งในเรื่องการสั่งโยกย้ายตำรวจที่ก่อเหตุอื้อฉาวพวกนั้น เช่น ย้ายไปประจำสำนักงานตำรวจภูธร ภาค 6 ในเบื้องต้น เพื่อรอการสอบสวนข้อเท็จจริง
แทนที่จะมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หลังจากปรากฏหลักฐานค่อนข้างชัดเจน และมีผลต่อรูปคดี นั่นคือ การเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะออกมา แต่ก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่มี “แอ็กชัน” ออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา
แม้ว่าหากพิจารณาอย่างเข้าใจว่าเป็น “ขั้นตอน” ตามมาตรฐานของตำรวจ แต่เมื่อกรณีทีเกิดขึ้นเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งระดับของผู้ต้องหาที่ถือว่าเป็นระดับ “หัวหน้าสถานี” และตามข่าวยังมีรายงานอีกว่า เขามีความใกล้ชิดในระดับที่เป็น “ว่าที่ลูกเขย” ของคนที่ออกคำสั่งย้ายมาประจำสำนักงานตำรวจภูธร ภาค 6 มันก็ยิ่งสร้างความคลางแคลงใจในสายตาประชาชนมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี แน่นอนว่า เมื่อเป็นเรื่อง “อื้อฉาว” ระดับนี้ คงไม่มีใครกล้าออกมาช่วยเหลือปกป้องผู้กระทำผิดโดยตรง เพราะจะทำให้ตัวเองซวยไปด้วย อีกทั้งในยุคที่สังคมสมัยใหม่ที่หากในมุมหนึ่งฝ่ายตำรวจก็กำลัง “ถูกรุกไล่” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นเดียวกัน
แต่หากพิจารณากันในภาพรวมๆ แล้ว มันก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมโดยเฉพาะใน “กระบวนการยุติธรรม” ที่ตำรวจถือว่าเป็นต้นน้ำที่ “บิดเบี้ยว” อยู่ตลอดเวลา ถึงต้องมีกระแสเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปตำรวจ” รวมไปทั้ง “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ทั้งระบบอีกด้วย
ที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องเหล่านี้ดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกัน คนที่ถูกมองว่า “ยื้อ” มาตลอด ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ในยุคที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จนมาถึงยุคปัจจุบัน หากจำกันได้ว่าเคยมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจหลายชุด เท่าที่จำได้ก็มีชุดของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ มาจนถึงชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งถือว่าชุดนี้เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด แม้ว่าอาจมองว่า “ยังไม่เต็มร้อย” แต่ก็ถือว่าได้ร้อยละ 70-80 ก็ถือว่าพอฝืนยอมรับได้
แต่ในที่สุดก็ “แท้ง” อีกจนได้ จนล่าสุด ก็มีความพยายามเสนอเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมสภาฯก่อนหน้านี้ แต่ก็มีเสียงโวยวายว่า “เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ” ไปจนผิดเพี้ยนไกลลิบเสียอีก
ดังนั้น นาทีนี้หากพิจารณาในมุมของ “โอกาส” สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง สำหรับการ “พลิกฟื้น” สถานการณ์จากภาพลบให้กลายเป็นบวกมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการเรียกศรัทธาให้กลับมา หลังจากถูกวิจารณ์ว่า “ถ่วงรั้ง” จนทำให้การปฏิรูปตำรวจล้มเหลวมาตลอด น่าจะฉวยโอกาสนี้ผลักดันให้สำเร็จตามที่สังคมเรียกร้อง
เชื่อว่า ด้วยสถานการณ์ที่เร่าร้อนแบบนี้ เหมือนกับ “ตีเหล็กกำลังร้อน” น่าจะได้ผล แต่หากวางเฉย หรือซื้อเวลาเหมือนเดิมก็คงไม่มีอะไรแก้ตัวอีกแล้ว !!