xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ปลื้มบังคับใช้ กม. 3 ปี ทุกคดีคืบหน้า ส่วนทุจริตทำสัญญามันสำปะหลังแบบจีทูจี จบ ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.ป.ป.ช. เผย พอใจบังคับใช้กฎหมาย 3 ปี ทุกคดีมีความคืบหน้า ด้าน “สุภา” เผยคดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี จบ ก.ย.นี้แน่ ยันไม่หมดอายุความ

วันนี้ (23 ส.ค.) สำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ ในประเด็น “ครบรอบ 3 ปี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561” ผ่านระบบซูม โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธานเปิด รวมทั้งกรรมการ ป.ป.ช และสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วม

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่าปีนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 ครบ 3 ปี ของการบังคับใช้ คือเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ซึ่งประชาชนคาดหวังอยากเห็นการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะการไต่สวนคำร้องต่างๆ ตั้งแต่ปี 2558 ที่เข้ามาทำหน้าที่ และหลังกฎหมาย ป.ป.ช.มีผลบังคับใช้ ที่ ป.ป.ช.แยกกระบวนการตรวจสอบและไต่สวน โดยปี 2564 ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ค. มีเรื่องร้องเรียน 1,390 เรื่อง เรื่องคงเหลือ 2,705 เรื่อง รอการวินิจฉัยกว่า 600 เรื่อง ซึ่งใน 600 เรื่องนี้ ไต่สวนเสร็จ 200 เรื่อง อีก 400 เรื่องอยู่ระหว่างไต่สวน ตามกฎหมายจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปีและขยายไม่เกิน 1 ปี

พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวว่า การทำงานในปัจจุบันไม่ได้ดูเฉพาะผลของการไต่สวน แต่จะมีการติดตามการทำงานหลังชี้มูลแล้ว ว่าคดีไปถึงไหน เรื่องที่ส่งไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาอยู่ในชั้นไหน มีการส่งฟ้อง หรือตั้งคณะทำงานร่วม หรือส่งฟ้องแล้วผลว่าอย่างไร เพราะกฎหมายใหม่ มาตรา 94 กรณีหลังศาลตัดสิน จะอุทธรณ์หรือฎีกา อัยการสูงสุดต้องขอความเห็นจาก ป.ป.ช. ทำให้เราเห็นผลลัพธ์การทำงาน พร้อมยกตัวอย่างล่าสุดคดีในปี 2564 มี 33 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 17 คดี ซึ่งศาลลงโทษ 33 คดี ยกฟ้อง 20 คดี

นอกจากนี้ ยังมีคดีแฟลตตำรวจ 163 หลัง ป.ป.ช.ชี้มูล เมื่อ 22 ก.ค. 62 และ ป.ป.ช.ฟ้องเอง เมื่อ 13 ก.ค.64 รวมระยะเวลาดำเนินการ 630 วัน หรือเกือบ 2 ปี ส่วนคดีโรงพักทดแทน 369 แห่ง ป.ป.ช.ก็ฟ้องเอง และกำลังดำเนินการร่างคำฟ้อง หลังอัยการสูงสุดส่งสำนวนกลับมา คดีสนามฟุตชอล ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ ป.ป.ช.ชี้มูล และอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง และนัดดำเนินการยื่นฟ้อง 14 กันยายนนี้ ใช้เวลาดำเนินการ 723 วัน

“ไม่ใช่แค่ 3 คดีนี้ แต่พนักงานไต่สวนจะติดตามทุกคดี ขณะนี้มี 26 คดีที่กรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะไต่สวน ฉะนั้นเราคิดว่าเราใช้เวลา 3 ปี ไปอย่างคุ้มค่า มีทิศทางชัดเจน ว่าการบังคับใช้กฎหมาย มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เป็นไปตามคาดหวังของประชาชน”

ในช่วงท้ายของการพบสื่อ เป็นการตอบคำถามและความคืบหน้าคดี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เผยคืบหน้าคดีกรณี ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวก คดีปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซีย เอื้อประโยชน์ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด หรือ คดีข้าวบูล็อค ว่า คดีดังกล่าวมีการชี้มูลนายกิตติรัตน์ กับพวก เนื่องจากตามทางไต่สวน มีการทักท้วงจากผู้ส่งออกข้าว 2-3 ราย ถึงวิธีการในการเปิดประมูลการปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซียดังกล่าวว่าอาจทำโดยมิชอบ เบื้องต้นได้ส่งสำนวนให้กับ อัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว ปัจจุบัน อสส. กำลังพิจารณาอยู่

ส่วนคดีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แก่ ระบายข้าวจีทูจีล็อต 2 มีการตั้งไต่สวนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2-3 ราย และมีการกันพยานบุคคลอยู่ มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว และมีบุคคลที่ถูกไต่สวนเพิ่มเติม 2-3 ราย ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองที่อยู่ต่างประเทศ รวมทั้งอดีต อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ขณะที่คดีขายมันสำปะหลัง (มันเส้น) จีทูจี กำลังสรุปสำนวนการไต่สวน โดทั้ง 2 คดีพยายามจะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 64 แต่เนื่องจากมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องบางรายไม่สามารถเข้าให้ปากคำได้

สำหรับคดีจีทูจียุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอยู่ 3 คดี คือคดีระบายมันสำปะหลังจีทูจี ระบายข้าวจีทูจี และการประมูลข้าวเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ที่ล่าช้าเนื่องจากมีพยานเอกสารบางรายการไม่เหมือนต้นฉบับ เช่นที่ ไม่ปรากฏลายเซ็นของบุคคลใดเลย ทำให้ต้องรอเอกสารตัวจริง และรอเสนอองค์คณะพิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาใครบ้าง ยืนยันคดีไม่หมดอายุความ เนื่องจากมีอายุความ 20 ปี






กำลังโหลดความคิดเห็น