โฆษก ทบ. แถลงพร้อมทหารสหรัฐฯ ยืนยันสถาบัน AFRIMS ปลอดภัย มุ่งวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสุขภาพประชาชน หลังถูกดูข่าวมีส่วนกับการแพร่ระบาดโควิดในไทย ดำเนินคดีทาง กม.แล้ว
วันนี้ (17 ส.ค.) ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.) พลโท สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย พลตรี ธำรงค์โรจน์ เต็มอุดม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และ พันโท แบรนดอน แมคคาร์เธอร์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ) ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงกรณีมีการนำข่าวเท็จลงในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารและสถานการณ์โควิด โดย พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก แถลงว่า ด้วยกองทัพบกได้ตรวจพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในโซเชียลมีเดีย โดยทวิตเตอร์แอกเคานต์หนึ่ง มีการตั้งข้อสังเกตและเชื่อมโยงว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.) อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิดในไทย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาหรือสมมติฐานที่ร้ายแรงมาก
ทบ.ขอเรียนให้ทราบว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อข่าวเท็จดังกล่าวแล้ว เมื่อ 16 ส.ค. 64 สำหรับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.) หรือ AFRIMS เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2501 จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทย และกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยทำงานวิจัยร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อในประเทศไทย และภูมิภาคแถบนี้อย่างต่อเนื่องมากว่า 60 ปี นำมาซึ่งประโยชน์สู่กองทัพและประชาชนไทยและในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และได้มีการศึกษาวิจัยโรคเขตร้อน โรคระบาด โรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางด้านการแพทย์ทั้งในส่วนสุขภาพกำลังพล ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ชายแดน และประเทศไทยในภาพรวม ล่าสุด สวพท. มีบทบาทสำคัญในสถานการณ์โควิด โดยได้เป็นหน่วยงานเข้าตรวจคัดกรองโควิดในชุมชนพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในชุมชนทหาร และประชาชนทั่วไป
พลตรี ธำรงค์โรจน์ เต็มอุดม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร แถลงถึงการบริหารจัดการขององค์กรนี้ ว่า สวพท. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในเรื่อง 1. ดำเนินการวิเคราะห์ วิจัย ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารเพื่อสร้างเสริมสุขภาพทหาร 2. ให้บริการตรวจวินิจฉัยและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แก่ทหารและประชาชน 3. เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก ทั้งนี้ ในพื้นที่ชายแดน ภารกิจของ สวพท.ยังครอบคลุมเรื่องการเฝ้าระวังโรคของทหารตามแนวชายแดน อาทิ ไข้มาลาเรีย, ไข้รากสาดใหญ่ เป็นต้น และในปัจจุบัน สวพท.เป็นห้องปฏิบัติการในการตรวจคัดกรอง COVID-19
สำหรับในการทำงานร่วมกับทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาให้กับประชาชนไทยทุกคน ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ขอเรียนว่า เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้การกำกับของ สวพท. ทั้งในด้านการวิจัย การเฝ้าระวังโรค การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมาตรฐานห้องปฏิบัติการของทางสถาบันถือเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการต้นแบบที่มีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้สถาบันให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการและรักษามาตรฐานความปลอดภัย
ทางด้าน พันโท แบรนดอน แมคคาร์เธอร์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ) แถลงว่า กว่า 60 ปีที่ผ่านมา กองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพบกไทย ร่วมทำงานกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ AFRIMS ในการต่อสู้กับโรคเขตร้อน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเผยแพร่เอกสารเท็จ และกล่าวหานักวิทยาศาสตร์ไทยและสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกันกว่า 400 คน ที่ปฎิบัติงานอย่างมีอาชีพ และอุทิศตนทำงานในสถาบันแห่งนี้ จึงขอเรียนชี้แจงว่า
AFRIMS เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิผลและมีความสำคัญอย่างยิ่งระหว่างสหรัฐฯ และราชอาณาจักรไทย ในการช่วยรักษาชีวิตมนุษย์นับล้านคนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การทำงานร่วมกันแบบทวิภาคีใน AFRIMS ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ให้แก่ประเทศไทยและสหรัฐฯ แต่ยังรวมถึงการก้าวถึงเป้าหมายระดับโลก ความร่วมมือทั้งสองฝ่ายทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาค และที่สำคัญอย่างยิ่ง มาตรฐานของห้องปฏิบัติการของเรามีความปลอดภัยสูง การวิจัยที่ AFRIMS มุ่งเน้นในการต่อสู้กับโรคเขตร้อนในภูมิภาค อาทิ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ชิกุนคุนยา ชิการ์ โรคเชื้อไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ HIV
ความร่วมมือในงานวิจัยร่วมกันช่วยให้เราได้พัฒนาวัคซีนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งได้รักษาชีวิตของคนนับล้านทั่วโลก และเราจะยังคงดำเนินภารกิจต่อไป อาทิเช่น การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน mRNA ของจุฬาลงกรณ์ในช่วงการศึกษาขั้นต้น และผลของการศึกษาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มว่าปลอดภัยและมีประสิทธิผลต่อการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ภายในประเทศต่อไป ความร่วมมือครั้งนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการที่สหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะยืนหยัดเคียงข้างประเทศไทยจนกว่าโรคระบาดนี้จะถูกกำจัดลง
ที่ผ่านมา AFRIMS เป็นศูนย์ความร่วมมือหลักขององค์การอนามัยโลก ด้วยความร่วมมือกันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ต่อการระบาดของโรคทั่วภูมิภาคอาเซียน การสนับสนุนของ AFRIMS ช่วยสร้างความมั่นใจว่าราชอาณาจักรไทยจะยังคงเป็นผู้นำในด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ทุกสิ่งที่ทางสถาบันได้ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายไทยและสหรัฐฯ เพื่อรักษามาตรฐานสูงสุดของห้องปฏิบัติการ ซึ่งทำให้ AFRIMS เป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงสุดในโลก AFRIMS มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า ห้องปฏิบัติการ สิ่งส่งตรวจ พนักงาน และสาธารณชน มีความปลอดภัย และได้รับการรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา ทั้งนี้เราตระหนักดีถึงบทบาทของความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ไทยและสหรัฐฯ ที่ AFRIMS ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ปลอดภัยและเคร่งครัดจะช่วยให้เราทุกคนปลอดภัย
ในช่วงท้ายของการแถลง พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ได้กล่าวสรุปว่า ทบ.เข้าใจดีกว่า ปัจจุบันประชาชนมีความอ่อนไหวในข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์โควิด เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของข้อมูลเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรและความสัมพันธ์ของประเทศ จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายควบคู่กับการชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับทราบ ขอยืนยันว่า ทบ ได้ทุ่มเท ยึดมั่นในการดูแลประชาชน และสนับสนุนรัฐบาลในสถานการณ์โควิดอย่างดีที่สุด ข่าวสารใดที่ประชาชนได้รับแล้วเกิดความไม่มั่นใจก็ขอให้ได้ตรวจสอบกับ ทบ. หรือหน่วยงานที่ถูกพาดพิง ก็จะช่วยกำจัดกระบวนการข่าวปลอมได้อีกทางหนึ่ง
ทบ.ขอยืนยันว่า จะดำเนินการทุกอย่างในการช่วยเหลือประชาชนในทุกรูปแบบโดยใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนตลอดไป