“บิ๊กตู่” ประเมินกลาง ครม.ตัวเลขผู้หายป่วยโควิดสูงขึ้น เชื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อลดลง สั่ง รมต.ลงพื้นที่ทำงานให้ชาวบ้านเห็น กำชับ “ฟาวิพิราเวียร์-ฟ้าทะลายโจร” ต้องเพียงพอ ด้าน “วิษณุ” ยกคำสั่งศาลแพ่งคุ้มครองสื่อ รัฐบาลยอมถอยไม่สู้คดีต่อ ขณะที่ “อนุทิน” ยันร่าง พ.ร.ก.ปกป้องบุคลากร สธ.ยังไม่ถึงมือ ข้องใจโดนโจมตี ทั้งที่เป้าหมายคุ้มครองแพทย์
วันที่ 10 ส.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยการประชุมในวันเดียวกันนี้ใช้เวลาไม่นาน เมื่อเข้าสู่ช่วงวาระสถานการณ์โควิด-19 นายกรัฐมนตรีรายงานว่า วันนี้เรารักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หายมากกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และอยากจะให้ตัวเลขผู้ที่รักษาหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาดูแลช่วยกันจัดการให้สถานการณ์ดีขึ้น หากเรารักษาผู้ป่วยให้หายได้มากสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น
นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ขอให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่จะใช้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และให้ไปดูชุดตรวจ Antigen Test Kit ว่าจะสามารถควบคุมราคาได้หรือไม่ เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าราคาแพง ขอให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขรีบไปจัดการ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข รายงานว่า ในวันเดียวกันนี้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประมูลบริษัทชุดตรวจ Antigen Test Kit เพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชน ก็จะได้รู้ว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ รายงานว่า ชุดตรวจก็เหมือนรถยนต์ ซึ่งมีหลายยี่ห้อ หลายแบบ ต้นทุนแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน บางครั้งจะมาควบคุมราคาก็ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร และยาที่จำเป็นจะต้องใช้ให้รีบจัดซื้อ และขอให้จัดหาให้เพียงพอ โดยนายอนุทิน รายงานว่า เราจะผลิตเองอยู่แล้วคาดว่าน่าจะเพียงพอ
ที่ประชุม ครม.ยังได้พูดถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในกลุ่มของภาคอุตสาหกรรมที่อาจจะส่งผลกระทบ เนื่องจากขาดแคลนแรงงานต่างด้าว หากจำเป็นจะต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะต้องเข้ามาแบบถูกกฎหมาย จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานไปพูดคุยกันว่าจะหามาตรการอย่างไร
จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รายงานกรณีศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯ บังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ว่า ศาลได้ให้คำแนะนำว่ารัฐบาลสามารถใช้กฎหมายอย่างอื่นในลักษณะเดียวกันมาบังคับใช้ได้ และรัฐบาลไม่ได้ต้องการจะสู้คดีต่อ ให้เป็นไปตามคำสั่งศาล
นายวิษณุ ยังสอบถามในที่ประชุมถึงการวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด-19 ว่า กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะรายละเอียดเป็นอย่างไร
ด้าน นายอนุทิน ชี้แจง ครม.ว่า ในการประชุมของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีข้อกังวลจึงเสนอว่า “การทำงานกลัวว่าจะโดนฟ้องร้อง เพราะตอนนี้ผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อวันละ 2 หมื่นคน หากดูแลไม่ดีแล้วผู้ป่วยตายก็กลัวว่าจะโดนฟ้องร้อง จึงอยากได้ พ.ร.ก.ดังกล่าวให้คุ้มครอง เพื่อป้องกันการฟ้องร้อง ซึ่งเรื่องการจัดหาวัคซีนเป็นเรื่องรองที่พูดถึง แต่หลักใหญ่ที่พูดถึงไม่ยอมหยิบยกมาพูด จากนี้จะไปขอคำแนะนำพูดคุยกับนายวิษณุอีกครั้ง”
“ผมยืนยันว่า หากจะทำก็จะต้องทำให้รอบคอบอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่กลับโดนเอามาสร้างตีกระแสก่อน และเรื่องยังไม่ถึงผม ผมยังไม่เห็นตัวเรื่องเลยที่จะทำ และยังไม่รู้ว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร และยังไม่ถึงขั้นที่จะนำเสนอที่ประชุม ครม.” นายอนุทิน ชี้แจง
ด้าน นายกฯ กล่าวเพียงว่า “บางเรื่องพูดไปกันใหญ่ พูดกันไปก่อน ทั้งที่ ครม.ยังไม่มีการอนุมัติ ยังไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีการพูดคุยกันเลย”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายการประชุม ครม.นายกฯ ได้สั่งการให้ ครม.ทุกคนช่วยกันลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านบ้างในช่วงโควิด-19 จะได้ออกเป็นข่าวบ้างชาวบ้านจะได้เห็นภาพและรู้ว่าเราทำงาน รวมถึงเรื่องการปัญหาหนี้นอกระบบประชาชนอาจจะไม่กล้าแจ้ง ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้รับจ้างทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง และขอบคุณทุกคน พรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมกันทำงาน