xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพล อ้างไม่ค่อยมีอิสระแสดงความเห็น หนุนดารา call out มองโควิดระบาดรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นยามวิกฤตโควิด มองสถานการณ์ระบาดรุนแรงมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ปชช.ไม่ค่อยมีอิสระแสดงความเห็น ชี้เป็นสิทธิตามระบอบ ปชต. เน้นแสดงความเห็นผ่านการพูดคุย แนะเคารพสิทธิ หนุนดารา call out

วันนี้ (1 ส.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “การแสดงความคิดเห็นของประชาชนในยามวิกฤต โควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,121 คน (สำรวจทางออนไลน์) สำรวจวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2564 พบว่า ประชาชนมองว่าสถานการณ์บ้านเมือง ณ วันนี้ โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 91.71 ในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ยังไม่ค่อยมีอิสระเท่าใดนัก ร้อยละ 33.64 มักจะแสดงความคิดเห็นด้วยการพูดคุย ร้อยละ 69.33 โดยมองว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 79.02 ทั้งนี้ควร เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย ร้อยละ 73.38 และประชาชนเห็นด้วยกับการที่ศิลปินดารา/อินฟลูเอนเซอร์ออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ ร้อยละ 68.88

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า การที่ผลโพลมองว่าประชาชนยังไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของประชาชนที่อยากระบายความอัดอั้นตันใจและส่งเสียงให้รัฐบาลได้ยินมากขึ้น เพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือคนธรรมดาก็ย่อมมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหา จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่า...จะอยากรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่

ดร.พัชราพรรณ นาคพงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดารา/คนดัง influencer ได้ ออกมา Call out วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจนนำมาสู่ข้อสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดหรือไม่ และประชาชนมีอิสระเสรีภาพมากเพียงใด ในการออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

ในส่วนนี้พิจารณาได้ว่า การกระทำใดจะเป็นความผิดหรือไม่ต้องดูว่าในขณะที่กระทำได้มีบทกฎหมายตัวใดหรือไม่ที่ระบุว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด หรือต้องรับโทษจากการกระทำนั้น เช่น การโพสต์ข้อมูลเท็จ หรือบิดเบือนข้อมูล อาจเข้าข่ายความผิดได้ ดังนั้น การต่อสู้ของคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็คงต้องบอกว่า “เป็นสิ่งที่สามารถทำได้” ด้วยการกล่าวอ้างสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34, 35 และเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งอยู่ในวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ป.อาญามาตรา 329(3) และไม่สมควรที่จะถูกรัฐบาลฟ้องหรือดำเนินคดีใดๆ เพราะจะแสดงให้เห็นว่ารัฐได้ปิดกั้นเสรีภาพและปิดกั้นการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น