สวนดุสิตโพล สำรวจบทเรียนโรงงานระเบิด ควรให้ความสำคัญป้องกันสาธารณภัยมากขึ้น ส่วนใหญ่มองเหตุรุนแรง เสียหายอย่างมาก มองเกิดจากการรั่วไหลสารเคมี ฝากตรวจสอบโรงงานต่อเนื่องกันเกิดซ้ำ ไม่ค่อยพอใจกับการแก้ปัญหา
วันนี้ (11 ก.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี บทเรียนจากเหตุระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,266 คน ระหว่างวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2564 พบว่า ประชาชนมองว่าเหตุการณ์นี้รุนแรง สร้างความเสียหายอย่างมาก ร้อยละ 88.54 คิดว่าเกิดจากสาเหตุการรั่วไหลของสารเคมี ร้อยละ 67.02 สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล คือ ควรตรวจสอบโรงงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ร้อยละ 92.00 บทเรียน ที่ได้รับคือ ควรให้ความสำคัญกับงานบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยมากขึ้น ร้อยละ 69.99 ทั้งนี้ยังไม่ค่อยพอใจกับการแก้ปัญหาในภาพรวม ร้อยละ 39.38
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า เหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ในภาคอุตสาหกรรมของไทยเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับพบว่าการรับมือ และแก้ปัญหายังทำได้ไม่รวดเร็วนัก อีกทั้งยังเปิดให้เห็นจุดอ่อนในเรื่องเดิมซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมือง ระบบการระงับป้องกันภัยที่ยังไม่ทันสมัย กฎระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้การอพยพทำได้ล่าช้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในสถานการณ์โควิด-19 บทเรียนครั้งนี้จึงไม่ควรเป็นเพียงการบันทึกเรื่องราว แต่ควรนำไปสู่การปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์นี้ก็จะเหมือนไฟไหม้ฟาง เหมือนกับที่ผ่านๆมา
ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า ประชาชนมองว่า เหตุระเบิดโรงงานกิ่งแก้วมีความรุนแรงนำไปสู่ความเสียหายอย่างมาก และไม่ค่อยพอใจกับการแก้ไขปัญหาในภาพรวม อาจเป็นเพราะว่านี่ไม่ใช่เหตุระเบิดจากสารเคมีครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งผลของการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นว่า บทเรียนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจต้องนำไปสู่การปฏิรูปเรื่องกฎหมายผังเมือง แผนระงับภัยฉุกเฉิน การจัดทำฐานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) เพื่อสะดวกต่อการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นรวมไปถึงภาครัฐยังสามารถติดตามเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดขึ้นได้ และสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีการให้ความรู้ การสร้างความตระหนักแก่ชุมชน ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรชุดเผชิญเหตุ หน่วยผจญเพลิงให้มีความพร้อมในการรับมือด้วย