เมื่อบริการทางเลือกอย่าง Telemedicine เข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะหาช่องทางในการปรึกษา หรือพบแพทย์ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ในขณะที่โรงพยาบาลก็มองว่าการให้บริการในลักษณะนี้มีโอกาสสร้าง S-Curved ใหม่ให้แก่ธุรกิจ
สิ่งที่เข้ามาช่วยตอกย้ำให้เห็นความสำเร็จของบริการ Telemedicine คือ ปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากข้อมูลการให้บริการสิทธิพิเศษของเอไอเอสที่เปิดให้ลูกค้ากว่า 43 ล้านราย ได้ใช้สิทธิในการหาหมอได้ฟรี ผ่านช่องทางออนไลน์
บุษยา สถิรพิพัฒน์กุล ผู้บริหารหน่วยธุรกิจดูแลลูกค้าและสิทธิประโยชน์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ให้ข้อมูลถึงการใช้งานสิทธิเพื่อเข้าใช้บริการ Telemedicine ในช่วงที่ผ่านมาว่าเติบโตขึ้นถึง 2.5 เท่า สอดคล้องกับภาพรวมของการเลือกใช้สิทธิพิเศษอื่นๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เติบโตถึง 4.6 เท่า โดยพบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้นถึง 68% และให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 สูงถึง 89% จากข้อมูลวิจัยของสวนดุสิตโพล
โดยบริการหาหมอออนไลน์ไม่ได้เติบโตขึ้นเฉพาะในประเทศไทย เพราะข้อมูลจากแม็คคินซีย์ พบว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักๆ ในสหรัฐฯ ปริมาณการใช้บริการการแพทย์ผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นสูงถึง 46% ทำให้บรรดาโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ เร่งศึกษาหาทางนำดิจิทัลมาช่วยสร้างให้เกิดบริการใหม่แก่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการลดความเสี่ยงในการเข้าไปพบแพทย์ รวมถึงเพิ่มความสะดวกให้แก่คนไข้ที่มาใช้บริการภายในโรงพยาบาลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นพ.สุรพงษ์ ลูกหนุมารเจ้า ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและโครงการ โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวเสริมว่า ในการให้บริการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ นอกเหนือจากการพูดคุยเพื่อรับคำปรึกษาแล้ว ปัจจุบันยังมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้คนไข้สามารถใช้เพื่อตรวจร่างกายเบื้องต้นได้ อย่างเช่นการฟังปอด การวัดอัตราการเต้นของหัวใจต่างๆ
“การนำอุปกรณ์เข้ามาช่วยจะทำให้สมิติเวชสามารถดูแลคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น และจะทำให้เกิดการดูแลลูกค้าให้แข็งแรงด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้แพทย์สามารถตรวจรักษาโรคในระยะที่เร็วขึ้น และสามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้นด้วย”
ขณะเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของคนไข้ ทำให้สมิติเวช รวมถึงภายในเครือโรงพยาบาล BDMS มีการลงทุนเพิ่มเติ่มในเรื่องของ Tele Monitor ในการติดตามอาการ หรือบริการอย่าง SkinX เพื่อช่วยในการรักษาคนไข้เกี่ยวกับผิวหนังต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล
“เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรงพยาบาลก็ต้องปรับตัว และขยายบริการเพิ่มขึ้น จนรายได้จากส่วนนี้ได้กลายเป็น S Curved ให้แก่โรงพยาบาล จากก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนรายได้ราว 5% ปัจจุบันบริการ Telemedicine มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15% แล้ว”
นพ.วิยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้เข้ามาดิสรัปชันทำให้ทางโรงพยาบาลพระรามเก้า ต้องเร่งนำการรักษาผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Telemedicine มาปรับใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังสูง ทั้งการเปลี่ยนไต รักษาโรคหัวใจ สมอง มะเร็ง เพื่อให้การรักษามีความต่อเนื่อง
“เมื่อเห็นถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้โรงพยาบาลพระรามเก้า เตรียมที่จะเปิดให้บริการโรงพยาบาลเสมือน หรือ Virtual Hospital สำหรับดูแลสุขภาพผู้ที่ยังไม่ป่วยหนัก และไม่ต้องการเข้าไปที่โรงพยาบาลซึ่งอาจมีความเสี่ยงได้”
นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงที่ผ่านมาบริการ Telemedicine ได้เข้าไปมีส่วนสำคัญสำหรับคนไข้ทางด้านจิตแพทย์ จากความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ ก็เข้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น ส่วนในอนาคต ทางโรงพยาบาลมองว่า Telemedicine จะกลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้แก่โรงพยาบาล ที่เริ่มเห็นผลแล้วจากการที่เดิมไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ในสถานการณ์โควิด-19
ขณะเดียวกัน ยังพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เป็นโรคที่มีความซับซ้อน ก็หันมาใช้บริการ Telemedicine กันมากขึ้น โดยเฉพาะในการปรึกษาแพทย์ผิวหนังต่างๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาทางด้านภูมิแพ้ ที่คิดว่าบริการเหล่านี้จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เพราะมีโอกาสที่จะเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่
นอกเหนือจากบริการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ในการทำ Tele Health รูปแบบใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ผสมผสานกับการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายไร้สายทั้ง 4G/5G และไฟเบอร์ที่มีความเสถียรมากขึ้น ยังช่วยให้หลายโรงพยาบาลมีการต่อยอดในการให้บริการหลากหลายรูปแบบเพิ่มเติมเข้าไป ทั้งการรวมศูนย์ข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ภายในแอปพลิเคชัน เพื่อให้คนไข้สามารถเข้าถึงประวัติการรักษา ข้อมูลสุขภาพต่างๆ ได้ทันที
รวมถึงการเพิ่มบริการนัดหมายผ่านแอปพลิเคชัน เพิ่มเติมจากการโทร.นัดหมาย ไปจนถึงบริการเตรียมตัวก่อนเข้าไปพบแพทย์ อย่างบริการนัดหมายเจาะเลือดล่วงหน้าถึงบ้าน ทำให้สามารถใช้ผลตรวจในวันที่มีนัดพบคุณหมอได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการไปรอผลตรวจเลือดที่โรงพยาบาลอีกต่อไป
บริการต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสบการณ์ใช้งานในโรงพยาบาลให้มีความสะดวก ลดระยะเวลาใช้งานภายในโรงพยาบาลลง ซึ่งจะส่งผลถึงการช่วยลดควาามเสี่ยงในการรับเชื้ออื่นๆ ของคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาภายในโรงพยาบาลด้วย
เมื่อเห็นถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้เอไอเอสซึ่งให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค หันมายกระดับสิทธิพิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพให้แก่ลูกค้ามากขึ้น อย่างการเปิดให้บริการ Telemedicine ทั้งรับคำปรึกษาฟรี และมอบส่วนลดเพิ่มเติม จากทั้ง 6 กลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำ รวมถึงสตาร์ทอัปแพลตฟอร์มสุขภาพอย่าง Doctor A to Z และ Dr. Raksa
เสริมด้วยการเข้าไปร่วมกับเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศ เปิดให้ลูกค้าสามารถนำ AIS Points ไปแลกรับส่วนลดค้ายาเพิ่มเติม รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจประกันภัย ในการมอบประกันประเภทต่างๆ ให้ลูกค้าสามารถแลก AIS Points เพื่อรับสิทธิเพิ่มเติมได้
บุษยา กล่าวทิ้งท้ายว่า “บริการทางด้านสุขภาพถือเป็นหนึ่งใน 5 แกนที่ลูกค้าของเอไอเอสให้ความสำคัญ นับตั้งแต่การใช้สิทธิ กิน ดื่ม เที่ยว ชอปปิ้ง ก็คือเรื่องของสุขภาพ และสื่อให้เห็นว่าเอไอเอสมีความใส่ใจกับลูกค้า ทำให้มั่นใจว่าการเสริมสิทธิเศษทางด้านสุขภาพเข้ามาในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าเอไอเอส ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้นด้วย”