รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผย รัฐบาลบูรณาการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านและชุมชน เพิ่มคู่สาย-ลงทะเบียนออนไลน์ จัดงบสนับสนุนเต็มที่
วันนี้ (26 ก.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation - HI) และการดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation - CI) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ โดยจัดให้มีทีมแพทย์คอยติดตามอาการ ชุดเวชภัณท์และยาที่จำเป็น เพี่อคัดแยกผู้ป่วย ลดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและชุมชน ซึ่งขณะนี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับวิธีการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขกับหน่วยรับดูแลผู้ติดเชื้อแรกรับ (คลินิก/ศูนย์บริการสาธารณสุข/โรงพยาบาล) โดยจะได้รับการจ่ายชดเชยงวดแรกแบบเหมาจ่ายในอัตรา 3,000 บาทต่อราย โอนเงินให้ทุกสัปดาห์ และภายหลังเสร็จสิ้นสุดการดูแล หากค่าใช้จ่ายมีมากกว่าจำนวนเงินที่จ่ายแบบเหมาจ่ายไปแล้ว หน่วยบริการจะได้รับการจ่ายชดเชยเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยตามที่กำหนด จึงขอให้หน่วยบริการมั่นใจได้ว่า จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช.อย่างเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อ “สายด่วน 1330” เพื่อการประสานหาเตียง และการแจ้งเข้าระบบดูแลผู้ป่วยที่บ้าน/ชุมชน ซึ่งสปสช. ได้เพิ่มคู่สายอีก 500 คู่สายแล้ว หรือจะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบดูแลตนเองที่บ้านผ่านเว็บไซต์ เว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/ หรือไลน์ @nhso ก็ได้
สำหรับผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล หากประสงค์ต้องการเดินทางกลับไปรักษาตามภูมิลำเนา สามารถแจ้งความจำนงที่หมายเลข 1330 ได้เช่นกัน หรือจะลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ ที่ผ่านมา สปสช.ได้ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาแล้วประมาณกว่า 1,000 ราย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน กล่าวคือ สปสช. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมการขนส่งทหารบก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้การขนส่งผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรค ลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างทาง พร้อมมีเจ้าหน้าที่วิดิโอคอลให้คำปรึกษาระหว่างการเดินทางด้วย
นางสาวรัชดา ยังได้กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินการจัดให้มีรถพยาบาลหรือหากโรงพยาบาลไม่สามารถนำรถมารับผู้ป่วยได้เอง สามารถใช้รถอาสาสมัคร รถมูลนิธิ ที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย โดยโรงพยาบาลเป็นผู้เบิกค่ารับส่งต่อกับ สปสช.ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะครอบคลุมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมทั้งค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะด้วย