รมว.สธ. แจงชัดปม จม.แอสตร้าเซเนก้า นายกฯเซ็นสัญญา ตั้งแต่ พ.ย. 2563 และสั่งเพิ่ม มี.ค. 2564 ส่วนข้ออ้าง 3 ล้านโดสไม่มีที่มา ย้ำ ไทยต้องการ เดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งแอสตร้าฯ ตอบทางไลน์ พยายามจัดหาจากฐานการผลิตทั่วโลกมาให้
วันนี้ (25 ก.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา โดยมี นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กรณีจดหมายแอสตร้าเซนเนก้า ที่ถูกมองว่า การจองล่าช้า มาทำในเดือน มกราคม 2564 จำนวน 26 ล้านโดส และอีกครั้ง เดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 35 ล้านโดส เมื่อเทียบกับอาเซียนแล้ว เราค่อนข้างช้ากว่าที่อื่น อย่างแรก จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายที่ไม่ได้เป็นทางการ เป็นจดหมายที่แสดงของทางผู้บริหารของแอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งมาขอบคุณประเทศไทย ว่า ได้สนับสนุนให้เขาตั้งโรงงานผลิต สายการผลิตในประเทศไทยได้ และเขาก็สามารถที่จะจัดส่งวัคซีนให้กับคนไทยได้ตามกำหนด
“ในเรื่องของตารางที่เห็นนี้ ก็อยากจะแก้ไขนิดหนึ่งว่า อย่างที่เขาบอกว่าเดือนมกราคม 2564 หรือ พฤษภาคม 2564 อันนี้เป็นวันที่เขาบันทึกลงไปในสารบบของเขา แต่จริงๆ แล้ว การคอนเฟิร์ม รัฐบาลไทยได้ลงนามไป ถ้าคุณประสงค์ จำได้ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ปีที่แล้ว มีการลงนามที่ทำเนียบรัฐบาล มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แล้วด้านหลังมีประธานของแอสตร้าเซนเนก้าจากอังกฤษร่วมลงนาม เพราะว่ามันเป็นออนไลน์ แต่ในงานเอกสารคือส่งกลับไป กว่าเขาจะส่งกลับมาใช้เวลาอีก 2 เดือนกว่า อันนี้ก็เป็นระบบของเขาไม่เกี่ยวกับเรา แต่ว่าสำหรับเราออเดอร์คอนเฟิร์ม เรียบร้อยแล้ว ส่วนเอกสารที่ 2 อีก 35 ล้านโดส ที่มาเดือนพฤษภาคม 2564 เอกสารเราส่งไปตั้งแต่เดือนมีนาคม เช่นเดียวกันครับ ใช้เวลาในกระบวนการของเขา 2 เดือน ถึงจะส่งเอกสารกลับมาที่เรา ตรงนี้คือถ้าถามว่าแอสตร้าเซนเนก้า เขาบันทึกแบบนี้ ถ้าผมเป็นคนทำตารางแบบนี้ กระทรวงสาธารณสุขทำตารางแบบนี้ เราก็บอกว่า เราสั่งตั้งแต่ พฤศจิกายน 2563 และเดือนมีนาคม 2564”
ส่วนที่บอกว่าทีมของรัฐมนตรีที่ไปเจรจาบอกว่าเราต้องการแค่ประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้นในการฉีด นายอนุทิน กล่าวว่า เนื้อหาในจดหมายที่อ้างว่าประเทศไทยฉีดได้เดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้นเอง เขาส่งมาให้ถึง 6 ล้านโดส อันนี้คือในทางการตลาดหรือเป็นการบลัฟกัน เพื่อให้บอกว่าเขาได้ทำมากกว่าที่เราต้องการ แต่ตนโทร.ไปถาม Country Manager ของเขา ว่าฉันไม่เคยได้ยินเลยนะ ว่าใครพูด 3 ล้านโดส เขาก็บอกว่าเขาโน้ตเอาไว้
“ผมก็เลยบอกว่าโน้ตไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะวันที่ 7 กันยายน 2563 ที่พบกัน นั่นคือ การพบกันครั้งแรก ระหว่างผมกับผู้บริหารแอสตร้าเซนเนก้า วันที่เจอกันวันที่ 7 กันยายน 2563 ไม่ใช่เป็นการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น คือ แค่จับมือทำความรู้จักกัน และยังไม่รู้ว่าจะมีการทำสัญญาใดๆหรือเปล่า ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาเขียนมาตรงนี้ เพราะว่าสำหรับผม ถ้าในจดหมายที่ผมตอบไป ตรงนี้ไม่ใช่สาระของผม สาระของผมที่ตอบกลับเขาไป มีประโยคหนึ่งคือ เขาบอกว่า เขาคิดว่าจะจัดส่งให้ประเทศไทย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ผมตอบไปว่าประเทศไทยต้องการ 10 ล้านโดสต่อเดือน นั่นคือสาระที่ผมตอบจดหมายฉบับนี้ไป ฉะนั้น ตรง 3 ล้านโดส ผมไม่ได้อ่านเลย เพราะว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หรือส่วนหนึ่งของการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความหมาย เขียนอะไรก็ได้” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนฐานคิดการฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสมาอย่างไร และในความเป็นจริงทำได้จริงหรือเปล่านั้น นายอนุทิน กล่าวว่า แผนการฉีดมาจากกรมควบคุมโรค ก่อนมีโควิด กรมควบคุมโรคฉีดวัคซีนสูงสุดในแต่ละปี คือประมาณ 8 ล้านโดส หนึ่งปี ไม่ใช่หนึ่งเดือน ในโรคทั่วไป
“จริงๆ เขาบอกประมาณว่าเดือนละ 5-6 ล้านโดส แต่เราก็นับจำนวนประชากร นับความเร่งด่วนของสถานการณ์ ก็ให้ทางท่านอธิบดีกรมควบคุมโรคไประดมทุกอย่างให้มากที่สุด เขาก็บอกมาว่าฉีดได้ประมาณ 8 ล้านโดส เราก็บอกว่าไม่ได้ อย่างไรก็ต้อง 10 ล้านโดส ต้องทำแผนให้ได้และก็ต้องทำให้ได้”
ตอบข้อถามที่ว่า เมื่อถึงสิ้นปีนี้ จะฉีดได้ 100 ล้านโดส ตามเป้าหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เราฉีดได้ประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีก็อีก 6 เดือน ประมาณ 60 ล้านโดส จำนวนวัคซีนที่เข้ามาในแต่ละเดือนก็ประมาณ 10-12 ล้านโดส เดือนมิถุนายน 2564 มีวัคซีนเข้ามาใกล้ๆ 10 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม 2564 มีวัคซีนเข้ามาในระบบทั้งหมด ประมาณ 10-12 ล้านโดส จากนี้ไปเราได้สั่งไฟเซอร์ไปอีก 20 ล้านโดส ซึ่งจะมาในไตรมาสที่ 4
“ส่วนทางแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากที่รับจดหมายจากผมไป อันนี้ก็ต้องเรียนก่อนว่า เขายังไม่ได้ตอบมาเป็นทางการ แต่เขาก็ตอบมาใน ไลน์ ของผม และ ไลน์ ของท่านอธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าเขาจะพยายามไปหาฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ เมื่อถ้าเขาหาฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ได้ เขาก็จะสามารถเพิ่มการส่งให้กับประเทศไทยได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ส่วนกรณีที่มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายว่า ทำไมไม่ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงทางวัคซีนฯ สั่งห้ามส่งออก แต่อาจจะไม่ต้อง 100% อย่างน้อยตามเป้าที่เราต้องการ นายอนุทิน กล่าวว่า คิดว่าเราจะต้องลงไปในรายละเอียดมากพอสมควร แล้วเราต้องดูสถานการณ์ ดูว่าเขามีความบกพร่องหรือตั้งใจที่จะไม่ส่ง เขากลั่นแกล้งอะไรเราหรือไม่ ที่ผ่านมา 2 เดือนเขายังทำตามข้อตกลง ภายใต้ขอบเขตของสัญญาจัดซื้อจัดหาทุกประการ มาตรการมันง่ายครับ เป็นหนังสือฉบับเดียวก็มีผล แต่ถามว่าโรงงานที่เขามาผลิตวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศไทย เป็นโรงงานของเราเป็นของคนไทย เป็นโรงงานที่รับจ้างเขาผลิต เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูครับ บริษัทผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ถ้าเราไปทำอะไรเขา เขาอาจจะต้องรักษา integrity ของเขา ไปบีบเขามากไม่ได้ เพราะถ้าไปบีบปุ๊บ เดี๋ยวประเทศอื่นเขาบีบด้วย เขาอาจจะบอกขอยกเลิกสัญญา เราจะทำอย่างไร
“ทุกอย่างมันมีเหตุมีผล และยังไม่นับรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีความต้องการวัคซีนโควิด มีการระบาดของเชื้อเป็นอย่างมากเหมือนกัน ถ้าเราไปบล็อกตรงนั้น เขาก็จะมากดดันประเทศไทยทันทีในหลายๆ เรื่อง ทุกวันนี้กรมควบคุมโรค บอกแล้วว่าฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส เราก็หาได้ใกล้เคียงทุกครั้ง วัคซีนเข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดส มันก็แมทช์กันพอดี เอามามากก็ฉีดไม่ไหว แล้วก็เอามาดองเก็บไว้ก็ไม่ได้” นายอนุทิน กล่าว