งามหน้า! โครงการเงินกู้สู้โควิด “เกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่” ภาคอีสาน 6 จังหวัด กว่า 7 พันล้าน ครม.เห็นชอบตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 ยังไม่ลงถึงระดับจังหวัด “ประธานวุฒิสภา” ทำหนังสือถาม “มหาดไทย-เกษตรฯ” หลัง ส.ว.ขอหารือ พบ “ล่าช้า” หวั่นไม่ทัน เบิกจ่ายที่เหลือระยะเวลาใช้จ่ายแค่ 2 เดือนเศษ ด้าน “มหาดไทย” จี้ถาม บอร์ดระดับจังหวัด-อำเภอ ถามความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค ขีดเส้นรายงานสิ้นเดือนนี้
วันนี้ (22 ก.ค. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา มีหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งเรื่องการปรึกษาหารือของสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 14 มิ.ย. 2564 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด
หลังจาก นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา ขอปรึกษาเรื่อง การใช้จ่ายเงินกู้ตาม “โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด” งบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (แผนงานที่ 3.1) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 13,904 ล้านบาท
โครงการนี้ คณะรัฐมนตรี อนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ ตั้งแต่ ก.ย. 2563 วงเงิน 13,904 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4,250 แปลง โดยจะสิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน 2564 มี 6 หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย และกรมปศุสัตว์
“แม้ข้อมูลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 24 พ.ค. 2564 ที่ระบุว่า คณะกรรมการยกระดับแปลงใหญ่ระดับจังหวัด ได้อนุมัติโครงการแล้ว 91 โครงการ แต่กลับพบว่า การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความล่าช้า เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้รับงบประมาณ จากเงินกู้ตามมติ ครม.14 ก.ย. 2563 วงเงิน 7,373 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.87”
โดย 6 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณ เช่น จ.ขอนแก่น 390 แปลง งบประมาณ 1,134 ล้านบาท จ.ศรีสะเกษ 287 แปลง งบประมาณ 814 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 264 แปลง งบประมาณ 631 ล้านบาท จ.อุบลราชธานี 222 แปลง งบประมาณ 628 ล้านบาท จ.บุรีรัมย์ 196 แปลง งบประมาณ 428 ล้านบาท และ จ.สุรินทร์ 180 แปลง งบประมาณ 409 ล้านบาท
“ทั้ง 6 จังหวัดข้างต้น คณะกรรมการยกระดับแปลงใหญ่ ระบุตรงกันว่า “ยังไม่มีการโอนเงินอุดหนุน” ให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่แต่อย่างใด? โดยโครงการนี้ต้องเบิกจ่ายเงินภายในวันที่ 30 ก.ย. 2564”
ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดการดำเนินโครงการโดยเร่งด่วน หากผลการพิจารณาเป็นประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบภายใน 30 วัน/นับแต่วันที่ได้รับเรื่องตามที่ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 18 กำหนดด้วย
ล่าสุด นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 ก.ค. 2564 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดข้างต้น ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัด ให้เร่งรายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค ภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564 ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ที่มีหน้าที่แนะนำ ตรวจสอบ ติดตาม กำกับโครงการ ไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2563
“ให้เร่งติดตามนโยบายที่ให้สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ”
ขณะที่การประชุม ครม.เมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงความพอใจผลการดำเนินงานตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่
โดยเฉพะโครงการนี้ เป็นการให้เงินสนับสนุนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งวัสดุทางการเกษตรแก่เกษตรกร ตามกลุ่มเป้าหมาย 5,250 แปลง ครอบคลุมเกษตรกร 262,500 ราย พื้นที่ 5,003,250 ไร่
ข้อมูล มิ.ย. 2564 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 3,501 แปลง โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ เร่งรัด ติดตาม กำกับการดำเนินงานโครงการให้ทันตามกรอบเวลา เพื่อให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งในการบริหารจัดการแปลงใหญ่
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ยังไม่มีความรู้ ถึงผลดี-ผลเสีย ในการตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” เพียงแค่เพื่อที่จะได้สถานะนิติบุคคลในการทำสัญญาซื้อวัสดุ-อุปกรณ์ทางการเกษตรกับตัวแทนจำหน่ายที่เป็นภาคเอกชนในฐานะคู่สัญญา
โดยเฉพาะความรับผิดชอบในการดำเนินงาน การรับผิดชอบหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือกลัวว่าต่อไปหุ้นส่วนจะไปก่อหนี้ได้ไม่จำกัด ทั้งยังมีภาระที่จะต้องจัดทำบัญชีและเสียภาษีที่ยากเกินไปกว่าที่เกษตรกรจะบริหารจัดการได้ เป็นต้น.