ผอ.ศปก.ศบค. แจง ปชช.เดินทางข้ามจังหวัดต้องเข้าเว็บ “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” กรอกแบบฟอร์ม แจ้ง จนท.ด่านตรวจ เปิดใช้เย็นนี้ รพ.สัตว์ คงเปิดได้ ลั่น ทุกส่วนร่วมมือกันเอาสถานการณ์โควิดอยู่ ยันไม่ปรับโครงสร้าง ศบค. ยังทำงานกันดี ไม่โละทีมเดิม
วันนี้ (19 ก.ค.) เวลา 16.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ผ่านทางเพจไทยคู่ฟ้า ถึงกรณีการทำงานของสื่อมวลชนในขณะนี้สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติได้หรือไม่ รวมถึงการทำงานของอาสาสมัครที่ไปช่วยหาเตียง และแจกจ่ายอาหารจะสามารถเดินทางออกนอกบ้าน เพื่อไปช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ได้หรือไม่ ว่า ในกลุ่มของสื่อมวลชน ถือว่ามีความจำเป็นสามารถไปทำงานนอกสถานที่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน ขอให้สื่อมวลชนได้ยึดถึงมาตรการป้องกันระบาดการแพร่เชื้อโรค ในส่วนของอาสาสมัครต่างๆ ถือว่าเป็นการทำงานบริการสาธารณสุข ถือว่าได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดสามารถทำงานได้
เมื่อถามว่า หากอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้วต้องเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ จะสามารถเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯได้หรือไม่ และต้องมีเอกสารเพื่อขอเข้าพื้นที่ด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจะฉีดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เว้นแต่กรณีที่ได้รับการบริการให้มาฉีดวัคซีนตามใบนัด ถือว่าถ้ามีหลักฐานแสดงการนัด ก็ขอให้แสดงหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามข้อกำหนด แต่ก็กรณีการเดินทางหากหลีกเลี่ยงได้ในช่วงเวลานี้ ศบค.มีความห่วงใยไม่อยากให้ประชาชนจากพื้นที่ เช่น พื้นที่สีส้มเดินทางเข้ามายังพื้นที่แดงเข้ม เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนหลักฐานที่จะใช้ในการเดินทางนั้นมี 2 กรณี คือ 1. ถ้ามีหลักฐานเป็นเอกสารสามารถยื่นแสดง 2. ถ้าไม่มีเอกสารที่แสดงสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ซึ่งจะเปิดดำเนินการในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ เพื่อให้ดำเนินการได้ ฉะนั้น หากประชาชนมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเดินทางให้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ดังกล่าวแล้วกรอกแบบฟอร์ม จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ด เมื่อไปถึงด่านตรวจก็ขอให้แสดงคิวอาร์โค้ดกับเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะมีตัวอ่านที่สามารถอ่านคิวอาร์โค้ดดังกล่าวได้ก็จะทราบรายละเอียด ซึ่งอาจจะต้องตอบข้อมูล และข้อซักถามของเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะไม่สะดวกแต่ก็ขอให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
พล.อ.ณัฐพล กล่าวด้วยว่า ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวเราใช้คำว่าห้าม แต่ในช่วงเวลานอกเคอร์ฟิวยังมีความจำเป็นที่จะต้องเว้นในบางกิจการกิจกรรม ฉะนั้น ในช่วงนี้จึงขอใช้คำว่าให้งด ให้หลีกเลี่ยง เพราะหากหลังจากนี้หากมาตรการเข้มข้นขึ้น อาจจำเป็นจะต้องใช้คำว่าห้าม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะมีกิจการหรือกิจกรรมที่จะได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก ส่วนข้อกำหนดดังกล่าวที่ออกมารวมถึงการเปิดโรงพยาบาลสัตว์ด้วย เพราะเป็นกิจการด้านการบริการสาธารณสุขในเรื่องของโรงพยาบาลสัตว์ด้วยเพราะประชาชนมีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแล
พล.อ.ณัฐพล ยังให้สัมภาษณ์ผ่านทางเพจไทยคู่ฟ้า ถึงกรณี ศบค.เตรียมแผนรองรับไว้แล้วหรือไม่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลดลงจะใช้โมเดลอู่ฮั่นปิดเมือง เพื่อควบคุมเชื้อโควิด-19 ได้มีการประเมินสถานการณ์หรือไม่ ว่า ศบค.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้มีการเตรียมการในทุกสถานการณ์ เราจะคิดสถานการณ์ขั้นต่อไปตลอดเวลาว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะทำอย่างไร หรือถ้าสถานการณ์ไม่ดีไปกว่านี้จะทำอย่างไร สำหรับโมเดลอู่ฮั่น เป็นข้อพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมโรคได้พูดถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้วคงต้องฟังจากกระทรวงสาธารณสุขว่าจะมีการประเมินอย่างไร จะต้องใช้ลักษณะโมเดลอู่ฮั่นหรือไม่ แต่ ศบค.มีความพร้อมในทุกกรณี ส่วนถ้าพบผู้ติดเชื้อจำนวนเท่าใด จึงจะมีแนวโน้มใช้มาตรการฟูลล็อกดาวน์ห้ามออกจากบ้านหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับฟูลล็อกดาวน์ตัวเลขเราไม่ได้มองที่ตัวเลขได้ตัวเลขหนึ่ง เรามองหลายปัจจัย อาจจะปัจจัยตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือจำนวนสถานพยาบาลที่มีอยู่ หรือปัจจัยอื่นๆ ในแง่ของเศรษฐกิจด้วย มองในทุกมิติเพราะฉะนั้นเราไม่ได้มองในด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียว
เมื่อถามว่า ศบค.ประเมินกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในแง่ ศบค.ได้ชี้แจงกับประชาชนมาหลายครั้งแล้วว่าความสำเร็จในมาตรการควบคุมโรคจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีความเข้มข้นจริงจังในมาตรการควบคุมโรค 2. ส่วนของเอกชนและผู้ประกอบการให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด และ 3. ประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและส่วนที่เอกชนได้กำหนดเพิ่มเติม นอกจากนี้ ในส่วนเพิ่มเติมที่ช่วยให้การขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวเดินหน้าไปได้ และมีประสิทธิภาพ คือ สื่อมวลชนทำความเข้าใจกับประชาชนขยายผลออกไป จะทำให้มาตรการต่างๆ มีประสิทธิผล ถ้าทั้งหมดนี้ให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ศบค.คาดว่า สถานการณ์น่าจะเอาอยู่ แต่ถ้าลำพัง ศบค.อย่างเดียวต่อให้มีมาตรการที่เข้มงวดอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ศบค.คิดว่าไม่น่าจะเอาอยู่
เมื่อถามว่า จะมีการปรับปรุงโครงสร้าง ศบค.และจะมีการนำผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ปัจจุบันในโครงสร้างมีการทำงานได้เป็นอย่างดี ประสานสอดคล้องกันแต่บางครั้งอาจจะมีเรื่องที่ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันบ้าง แต่หลังจากนั้น ก็มีการพูดคุยกัน ฉะนั้น ทีมเดิมโครงสร้างเดิมอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่จะเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาหรือนายกรัฐมนตรีที่จะมอบหมาย แต่ในฐานะของตนโครงสร้างปัจจุบันมีความพร้อมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ