xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.คุมเข้ม 13 จังหวัดเทียบเท่า เม.ย.63 เบื้องต้นใช้ 14 วันก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แหล่งข่าวเผย ศบค.ใช้มาตรการคุมพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด เทียบเท่า เม.ย. 63 ควบคู่การตรวจเชิงรุก นำคนไปรักษา เบื้องต้นใช้ 14 วัน ก่อนพิจารณาปรับเพิ่มหากจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลด โดยขึ้นอยู่กับกรมควบคุมโรค

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ที่ขณะนี้มียอดตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) ประกาศคุมเข้มและเคอร์ฟิวพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้มแล้วก็ตาม แต่กลับพบว่า ยังคงมีสถิติยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกหลายจังหวัด จึงทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาให้มีการยกระดับเพิ่มมาตรการต่างๆ โดยเสนอให้ปิดกิจกรรมและกิจการเพิ่มมากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ 100% ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จนกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง ยกเว้นกิจการที่จำเป็น เช่น การขนส่งสินค้า อาหาร ยา วัคซีน สื่อสาร และสาธารณูปโภคที่จำเป็น รวมทั้งลดการเดินทางข้ามจังหวัด และให้การทำงานที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวเป็นพื้นที่สีแดงเข้มจะมีเพิ่มขึ้นอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ฉะเชิงเทรา จากเดิมที่มี 10 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่คุมเข้มสีแดงเข้ม รวม 13 จังหวัด โดยที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาให้กลับไปบังคับใช้มาตรการสูงสุดเช่นเดียวกับช่วงเดือนเมษายน 2563 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนรับทราบเตรียมตัวก่อนประกาศมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวเบื้องต้นบังคับใช้เป็นเวลา 14 วันก่อน แต่คาดว่า น่าจะมีการพิจารณาเพิ่มวันขึ้นอีก ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการยกระดับมาตรการครั้งนี้จะเน้นการตรวจเชิงรุก เพื่อนำคนเข้ารักษาทั้งระบบให้ได้ ซึ่งมีการบริหารจัดการระบบทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ (Covid-19 Comprehensive Response Team: CCRT) ทยอยลงพื้นที่ชุมชนค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit พร้อมทั้งให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และให้คำแนะนำ ทั้งในมาตรการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และมาตรการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) ที่มีการดูแลเรื่องอาหาร โดยให้ชุมชนช่วยดูแล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น รวมถึงเป็นการบริหารจัดการโรงพยาบาล ลดความซ้ำซ้อนและสามารถทำการดูแลรักษาได้อย่างครอบคลุมจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด อีกทั้งมีการพิจารณามาตรการเยียวยาต่างๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น