xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เคาะประตูบ้านตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุก หวังลดการแพร่ระบาดในชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'ผู้ว่าฯ อัศวิน' ระบุว่า เคาะประตูบ้าน ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ด้วย Antigen Test Kit ตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อลดการแพร่ระบาดในชุมชนเสี่ยง

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวงกว้างที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ติดเชื้อกันในครอบครัว และแพร่กระจายไปสู่ชุมชุมและสถานที่ทำงาน เพื่อลดการแพร่ระบาด การคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อและแยกกักตัวออกจากผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็นในเวลานี้ ก่อนที่จะมีการแพร่เชื้อต่อให้กับผู้อื่น

ถึงแม้ว่า กทม. ได้เร่งการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ การตรวจเชิงรุกทั้ง 6 กลุ่มเขต และการตรวจจากระบบเฝ้าระวังในศูนย์บริการสาธารณสุขและในโรงพยาบาลแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคนติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการตรวจอีก ซึ่งหากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการป่วย และใช้ชีวิตตามปกติ สัมผัสใกล้ชิดกับคนในครอบครัวและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในชุมชน จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้สูง

อีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้ในตอนนี้ การตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนแออัด เร่งแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัวให้ได้เร็วที่สุด กทม. จึงมีแผน “เคาะประตูบ้าน ตรวจเชิงรุก” จัดชุดปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 เชิงรุก (Covid-19 Comprehensive Response Team) หรือ CCRT เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อจากชุมชุนเป้าหมายที่มีการแพร่ระบาดมาก โดยใช้ Antigen Test Kit ตรวจให้กับกลุ่มคนที่หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์

หากตรวจพบผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวก เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะแยกตัวผู้ป่วย และนำส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง หากผลตรวจติดเชื้อโควิดจึงจะส่งเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถส่งผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทั้งหมดในตอนนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) และสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ เจ้าหน้าที่จะนำส่งรักษาตามอาการที่ศูนย์พักคอย (Community Isolation) โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักต่อไป

ในส่วนของกลุ่มที่มีผลตรวจเป็นลบ จะให้บริการฉีดวัคซีนและสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับคนในชุมชนไปในคราวเดียวกัน

การตรวจเชิงรุกแบบ CCRT จะช่วยตรวจคัดกรองแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัวได้รวดเร็ว เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชน กทม. จึงเร่งตรวจเชิงรุกในชุมชนที่มีการแพร่ระบาดมากและชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน และจะเร่งตรวจให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงให้ได้เร็วที่สุด