นายกรัฐมนตรีห่วงผู้ป่วยโควิด-19 สั่งปรับการบริหารให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ได้ รวมทั้งจัดการดูแลผู้ป่วยในลักษณะที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation)
วันนี้ (17 ก.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. รับทราบด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 และการรักษาพยาบาล จึงได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาการจัดการและปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด
โดยในที่ประชุม ศบค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งการตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และการจัดการดูแลผู้ติดเชื้อในลักษณะการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือการดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) และปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อตรวจให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ลดการแพร่ระบาดในชุมชน
ซึ่งมาตรการ Home Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน และมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อย ก็ยังคงใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน หรือที่ชุมชนก็จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดส่ง Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และเจ้าหน้าที่เขตของกทม. ติดตามการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชนของผู้ป่วยด้วย
ทั้งนี้ มาตรการ Home Isolation มีหลักการดังนี้
1. ผู้ป่วยติดเชื้ออาการต้องไม่รุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก หรือมีภาวะโรคเสี่ยง
2. ที่พักต้องเป็นแบบที่อยู่ด้วยกันแบบไม่แออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายคนแล้วต้องนอนรวมกัน ก็ไม่เหมาะกับ Home Isolation เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องจัดเป็น Community Isolation หรือที่ชุมชนจัดให้แทน
3. ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว ไม่ควรออกไปนอกบ้านจนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
4. โรงพยาบาลจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีแพทย์ที่สามารถทำ Video call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน มีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้ มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟ้าทะลายโจร และมีอาหารให้ผู้ติดเชื้อ 3 มื้อ และในกรณีที่อาการเปลี่ยนแปลง จะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลทันที
สำหรับมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน คกก.โรคติดต่อจังหวัด และเจ้าของสถานที่หรือชุมชน จะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และความพร้อม โดยพิจารณาจากจำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้ป่วยยืนยันติดโควิด-19 เป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ท่ีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา และรองรับได้ทุกกลุ่มผู้ป่วย โดยจะคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ เป็นความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และเป็นชุมชนที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยถึงเป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการที่บ้านหรือแยกกักในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เข้ารับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด รวมทั้งยังช่วยสงวนเตียงโรงพยาบาล เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงได้เพียงพอ นอกจากนี้ ผอ. ศบค. ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่จะมีการยกระดับที่เข้มข้น เช่น งดการรวมกลุ่ม จำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ อยู่ในที่พักตามเวลาที่กำหนด โดยขอให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน