ทีมโฆษก ศบค. เผย ไม่อนุญาตร้านสะดวกซื้อขายชุดตรวจ “Antigen test kit” ปชช.ซื้อได้ร้านขายยา ปฏิบัติตามคำแนะนำเภสัชกร ขอมั่นใจระบบกักตัวที่บ้าน ผู้ป่วยระดับสีเขียว ทดลองกลุ่มตัวอย่างมาแล้ว 1,000 คน ยันปลอดภัย
วันนี้ (16 ก.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.)
แถลงผลการประชุมศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุม ศบค.หารือการควบคุมการแพร่ระบาด คือ การตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง โดยปัจจุบันแม้จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการระดมอย่างมากในพื้นที่เสี่ยง โดยมีการตรวจวันละ 7-8 หมื่นแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ จึงมีการอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจ Antigen test kit ซึ่งประชาชนสามารถไปซื้ออุปกรณ์ได้ที่ร้านขายยา แต่ไม่อนุญาตให้ขายในร้านสะดวกซื้อ ส่วนที่มีประชาชนสั่งซื้อออนไลน์อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน ดังนั้น การไปซื้อในแหล่งออนไลน์หรือแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ร้านขายยาหรือสถานพยาบาล ขอให้ระมัดระวังผลตรวจอาจจะมีความผิดพลาด หรืออาจจะทำให้มีการเสี่ยงจากการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมศบค.มีความห่วงว่า ชุดตรวจดังกล่าวอาจจะไม่มีความแม่นยำพอ แต่การที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจดังกล่าวก็ยังดีกว่าไม่ได้ตรวจ แต่ก็ต้องเน้นย้ำว่าเมื่อตรวจแล้วผลเป็นบวก ขอให้ประชาชนไปติดต่อที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อตรวจซ้ำอีกครั้ง ไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การอนุญาตให้มีการจำหน่ายชุดตรวจดังกล่าวในร้านขายยาส่วนหนึ่งเพื่อให้มีเภสัชกรให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับประชาชน ทั้งในแง่การตรวจ การแยกกัก และการเฝ้าสังเกตอาการตนเอง ส่วนในกรณีโรงงาน สถานประกอบการมีบุคลากรเป็นจำนวนมาก 50-100 คน และมีความสนใจที่จะหาอุปกรณ์เหล่านี้ไปตรวจหาเชื้อพนักงาน รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า สถานประกอบการ โรงงานที่มีบุคลากรเกิน 50 คนโดยกฎหมายจะมีสถานพยาบาลกำกับสถานประกอบกิจการนั้นอยู่แล้ว จึงรับไปดำเนินการให้โรงงาน สถานประกอบการสามารถจัดหากันตรวจเชื้อให้กับบุคลากรได้ด้วย
ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 แถลงต่อว่า ที่ประชุมมีการหารือเรื่องการแยกกักตัวที่บ้าน ( home isolation) ในผู้ป่วยระดับเขียวหรือมีอาการเล็กน้อย โดยอธิบดีกรมการแพทย์มีการนำเสนอในที่ประชุม ได้เน้นย้ำว่า ระบบดังกล่าวได้พยายามศึกษาและทดลองระบบดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ในส่วนของโรงพยาบาลโดยกลุ่มตัวอย่างศึกษามาเกิน 1,000 คน ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยในกลุ่มนี้ผลการรายงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ จึงมั่นใจว่าระบบดังกล่าวสามารถดูแลประชาชนที่บ้านอย่างปลอดภัยแน่นอน โดยมีการจัดยาฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาอื่นๆ ที่มีความจำเป็น รวมถึงเครื่องวัดอุณหภูมิให้กับผู้ป่วย และได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย และระหว่างที่อยู่ที่บ้านจะมีการพูดคุยและสอบถามการประเมินอาการทางโทรศัพท์ และระหว่างที่ผู้ป่วยกักตัวอยู่ที่บ้านจะมีการจัดหาเตียง ทั้งนี้ ที่ประชุมเน้นย้ำว่าการดูแลผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านจะต้องมีการประเมินอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ประชาชนดูแลตัวเองที่บ้านได้ตามมาตรฐานที่ทางกรมการแพทย์กำหนด รวมถึงสิ่งสำคัญต้องมีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจิตและด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ส่วนการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ทำได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในชุมชนหรือโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน โรงงานมีสถานที่ที่พร้อม หรือถ้าเป็นกรุงเทพฯจัดสรรศูนย์พักคอยรอการส่งต่อของ กทม. ซึ่งตอนนี้มี 21 ศูนย์รองรับผู้ป่วยได้ 2,950 เตียง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามในชุมชนไม่เกิน 200 คนมีประมาณ 10-20 เตียงหรือ 170 เตียง ที่ประชุมเน้นย้ำว่าก่อนที่จะรับผู้ป่วยเข้าไปจะต้องตรวจวัดการติดเชื้อด้วยวิธีการตรวจโควิดก่อน และต้องได้รับการยอมรับจากในชุมชนและมีการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด อย่างไรก็ตามในที่ประชุมยังมีการรายงานถึงประสิทธิภาพของการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 ในระยะของผู้ป่วยที่ไม่รุนแรงหรือในระดับสีเขียว ซึ่งผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่ง ผอ.ศบค.ขอบคุณทุกหน่วยงาน