กางมาตรการยกระดับคุมเข้มมีโทษออกนอกบ้าน 3 ทุ่ม-ตี 4 โดยสารสาธารณะให้ใช้ 50% ผู้ว่าฯปิดสถานที่เสี่ยง ขายอาหารกลับบ้านถึง 2 ทุ่ม ห้างเปิดแต่ซูเปอร์ ยา รร.งดประชุมจัดเลี้ยง สะดวกซื้อ ตลาด ปิด 2 ทุ่ม-ตี 4 ราชการเอกชนทำงานที่บ้านขั้นสูงสุด
วันนี้ (18 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤตด้านสำธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งรัฐบาลโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการเพิ่มศักยภาพด้านการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาล และการเร่งรัดการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประเมินสถานการณ์ภายหลังการมีผลใช้บังคับของข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ปรากฏว่า ยังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในครอบครัวและชุมชน
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้น
จากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ความมุ่งหมายของมาตรการ มาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ ในข้อกำหนดฉบับนี้มุ่งหมายเพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีจำนวน ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาด ได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ประจำในที่พำนัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อมักเกิดขึ้นในครอบครัว โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีกำรเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า การติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราเพิ่มจำนวนขึ้นสูงมากแม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตามแต่ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็ว สิ่งที่ต้องร่วมมือกันในเวลานี้ คือ ชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโรคโดยต้องหยุดยั้งการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นความเสี่ยงหรือเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป
ข้อ 2 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถรนการณ์เสียใหม่ และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
ข้อ 3 การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้มีคำสั่งตามข้อ 2 เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น
สำหรับการเดินทางในบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ สามารถกระทำได้แต่ต้องพึงใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอาสาสมัครและจิตอาสา ในการให้ความช่วยเหลือและกระจายสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ข้อ 4 กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น.ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วันนับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่และการกำหนดบุคคลที่ได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ข้อ 5 การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามข้อกำหนดนี้ โดยเน้นการปฏิบัติเพื่อการคัดกรอง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อยสิบสี่วัน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น หรือแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ ให้นำกรณีหรือบุคคลที่ได้รับยกเว้นตำมข้อ 4 และข้อ 5 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มาใช้โดยอนุโลม
ข้อ 6 การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กำหนด โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละห้าสิบของความจุผู้โดยสารสำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาจัดการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อความจำเป็นและตามเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกการขนส่งประชาชนเพื่อรับบริการฉีดวัคซีนและบริการทางการแพทย์
ข้อ 7 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสิบสี่วัน โดยสำหรับการให้บริการดังต่อไปนี้ ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว
(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
(2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น.
(3) โรงแรม ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนาหรือการจัดเลี้ยง
(4) ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
(5) โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ 8 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน โดยให้เป็นไปตามข้อห้าม และข้อยกเว้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
ข้อ 9 การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนและจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคล รวมทั้งให้งดการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก เช่น การจัดประชุม สัมมนา การจัดสอบ หรือจัดฝึกอบรม ทั้งนี้ ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐพิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
สำหรับการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ให้เปิดให้บริการเฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุข การควบคุมโรค กิจการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า และเป็นการปฏิบัติงานที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโดยให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสมที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชนในช่วงระยะเวลานี้ จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรปฏิบัติตามมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเช่นเดียวกัน เพื่อให้บรรดามาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนี้ โดยเฉพาะการลดและจำกัดการเคลื่อนย้ำยการเดินทางของบุคคลสามารถเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ 10 การบูรณาการและประสานงาน เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ ศบค. พิจารณามาตรการและเร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็วและชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศปก.ศบค. ตามที่ได้รับการร้องขอหรือประสานงานในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการของประชาชนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ หรือศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ภายใต้ ศบค. พิจารณากลั่นกรองและทำความเห็นเบื้องต้นก่อนหารือมายัง ศปก.ศบค. เพื่อพิจารณา เพื่อให้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพด้วย
ข้อ 11 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อยสิบสี่วัน (จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564) โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลาเจ็ดวัน แต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเป็นการล่วงหน้าให้ทำได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะตามข้อ 6 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป