อนุฯ แก้ร่าง กม.ข้อมูลข่าวสารฉบับรัฐบาลประยุทธ์ รับลูก “วิษณุ” ชงทบทวน เน้นนำข้อทักท้วง ไปแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน พ่วงถามความเห็น 2 องค์กร “คณะปฏิรูปประเทศ ด้านปราบทุจริต-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” มีความประสงค์จะแก้ไข พ.ร.บ. ในมาตราใดและแก้ไขอย่างไร
วันนี้ (12 ก.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วย ข้อมูลข่าวสารของราชการและอนุบัญญัติ ครั้งที่ 3/2564 ที่มี ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ เป็นประธานประชุมผ่านระบบ Video conference ณ ห้องประชุม 109 อาคารสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
โดยที่ประชุม เห็นว่า ในการพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน
“จึงมีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการมีหนังสือถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อขอทราบว่า ทั้งสองหน่วยงานมีความประสงค์จะแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตราใดและแก้ไขอย่างไร”
สำหรับ ศ.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ปัจจุบัน ยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13) มีหน้าที่จัดทำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายองค์การมหาชน กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายระเบียบบริหารราชการต่างๆ และเป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อต้นดือนที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพิ่งเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ร่วมกับ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.), นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกฯ, นายมงคลชัย สมอุดร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ และตัวแทนจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
“โดยที่ประชุม เห็นชอบให้นำข้อทักท้วงต่างๆ ส่งไปให้คณะอนุกรรมการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการและอนุบัญญัติ ของ สขร. ซึ่งมี นายนันทวัฒน์ เป็นประธาน (แต่งตั้งโดยคำสั่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารที่ 3/2563) พิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และให้ส่งกลับมา ‘โดยเร็ว’ แม้ไม่ได้ระบุกรอบเวลาว่าต้องภายในเมื่อใด”
สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯฉบับดังกล่าว ถูกคัดค้านจากหลายองค์กร โดยเฉพาะว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูล (open data) ที่ถูกมองว่า มีหลักการบิดเบี้ยว และไปเน้นเนื้อหาที่ว่าด้วยการปกปิดข้อมูลของราชการมากกว่าการเปิดเผย