xs
xsm
sm
md
lg

“สถิตย์” หนุนพิธีสารฯ การท่องเที่ยวอาเซียน ยกระดับความร่วมมือในภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา
“ส.ว.สถิตย์” สนับสนุนพิธีสารฯ ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ยกระดับความร่วมมือเคลื่อนย้ายบุคลากรการท่องเที่ยว ครอบคลุมถึงสาขาไมซ์ ถือเป็นการเปิดตลาด เพิ่มการจ้างงาน เศรษฐกิจดิจิทัลเชิงท่องเที่ยวขยายตัว เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระเรื่องพิธีสารแก้ไขข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอภิปรายว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน เริ่มจากการค้าเสรี (Free Trade Area) แล้วพัฒนามาเป็นเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community) หลักการของประชาคมเศรษฐกิจนั้น สามารถมีการเคลื่อนย้ายโดยเสรี 4 เรื่อง คือ เคลื่อนย้ายสินค้า (Goods) บริการ (Services) เงินทุน (Capital) และแรงงาน (Labor) ปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายแรงงานของอาเซียน ประกอบด้วยสาขาวิศวกรรม (Engineering) พยาบาล (Nursing) สถาปัตยกรรม (Architecting) การแพทย์ (Medicine) ทันตแพทย์ (Dental) การท่องเที่ยว (Tourism)

ดร.สถิตย์ กล่าวต่อไปว่า ร่างพิธีสารแก้ไขข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เป็นการยกระดับและขยายความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรการท่องเที่ยวในอาเซียน จากเดิมที่ครอบคลุมเพียงตำแหน่งงานในสาขาที่พัก (Hotel Services) และสาขาการเดินทาง (Travel Services) ให้ครอบคลุมในตำแหน่งงานในสาขาไมซ์ (MICE) และสาขาการจัดกิจกรรม สำหรับสาขาไมซ์ เป็นสาขาการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่ครอบคลุมการจัดประชุม (Meeting) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) การประชุมนานาชาติ (Conference) และการจัดการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition) ร่างพิธีสารฯ ฉบับนี้เป็นการขยายบทบาทด้านการท่องเที่ยวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น เพราะการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

กล่าวได้ว่า พิธีสารฯ นี้ 1 ) จะทำให้ความร่วมมืออาเซียนก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง เพราะขยายสาขาการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม 2 สาขา 2) ขยายกิจกรรมการท่องเที่ยว เพราะเป็นการเปิดเสรีด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาไมซ์ หรือการจัดการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติและการจัดการนิทรรศการ ซึ่งเป็นสาขาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่สำคัญ 3) เพิ่มการจ้างงาน เพราะมีการส่งเสริมการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวหลากหลายสาขามากขึ้น และเป็นการยกระดับบุคลากรให้มีมาตรฐานระดับอาเซียน นอกจากนั้น บุคลากรไทยยังสามารถไปทำงานที่ประเทศอาเซียนอื่นได้ 4) เศรษฐกิจดิจิทัลเชิงท่องเที่ยวขยายตัว ทั้งทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงินออนไลน์ บริการเรียกรถ และบริการส่งอาหาร ผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น 5) เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น การขยายสาขาการเคลื่อนย้ายบุคลากรตามพิธีสารฯ จะก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นทั้งบุคลากรและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ย่อมส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นผลให้มีการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น